เลขที่หนังสือ | : กค 0702/4298 |
วันที่ | : 2 มิถุนายน 2552 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีสำหรับค่านายหน้าในการหาลูกค้าให้บริษัทประกันวินาศภัย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 78/1 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวจากสำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยโดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงานดังนี้ 1. บริษัทฯ มีหน้าที่จัดหากรมธรรม์ประกันภัยที่เหมาะสม เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยขนส่ง ทางทะเล และประกันภัยเบ็ดเตล็ด ให้กับลูกค้าซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล กรมธรรม์ประกันภัยออกโดยบริษัท ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย 2. เมื่อลูกค้าตกลงซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว บริษัทฯ จะแจ้งให้บริษัทผู้รับประกันภัยออกกรมธรรม์ประกันภัย โดยบริษัทผู้รับประกันภัยจะออกเอกสารให้กับลูกค้าประกอบด้วยกรมธรรม์ ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินในนามของลูกค้าผู้ทำประกันและส่งเอกสารดังกล่าวมาให้กับบริษัทฯ บริษัทฯ จะดำเนินการส่งกรมธรรม์ประกันภัย ใบแจ้งหนี้ และใบกำกับภาษีให้กับลูกค้า พร้อมเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทผู้รับประกันภัยตามหนังสือมอบอำนาจที่ให้ไว้กับบริษัทฯ และเมื่อได้รับค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าแล้ว บริษัทฯ จะลงชื่อผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินของบริษัทผู้รับประกันภัย และมอบใบเสร็จรับเงินให้กับลูกค้า 3. บริษัทผู้รับประกันภัยตกลงให้บริษัทฯ นำส่งค่าเบี้ยประกันภัยที่เรียกเก็บภายใน 60 - 90 วัน เมื่อครบกำหนด จึงนำส่งเงินค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวโดยหักค่านายหน้าที่บริษัทฯ ได้รับจากค่าเบี้ยประกันภัยก่อน พร้อมออกใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน ให้กับบริษัทผู้รับประกันภัยในวันที่ได้รับเงิน โดยบริษัทผู้รับประกันภัยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ในวันเดียวกัน บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน สำหรับค่านายหน้าที่ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยในวันที่ได้รับชำระเงินค่านายหน้าถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | กรณีบริษัทฯ เป็นนายหน้าให้บริการจัดหาลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เพื่อซื้อกรมธรรม์ประกันภัย เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยขนส่งทางทะเล และประกันภัยเบ็ดเตล็ด ให้กับบริษัทประกันฯ ในราชอาณาจักร เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการให้บริการดังกล่าว เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อได้รับชำระค่าบริการ ดังนั้น การที่ บริษัทฯ ได้รับชำระค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าแล้ว แม้บริษัทผู้รับประกันภัย ตกลงให้บริษัทฯ นำส่งค่าเบี้ยประกันภัยที่เรียกเก็บภายใน 60 - 90 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา บริษัทฯ ได้นำส่งเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทฯ ผู้รับประกันภัย โดยหักค่านายหน้าที่บริษัทฯ ได้รับจากค่าเบี้ยประกันภัยก่อนแล้วจึงนำส่งเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือให้บริษัทผู้รับประกันภัย บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับค่านายหน้าให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยในวันที่ได้รับชำรค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าทุกครั้งที่ได้รับชำระค่าเบี้ยประกันภัยและจะต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยผู้รับบริการ ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทผู้รับประกันภัยต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ในวันเดียวกัน ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26กันยายน พ.ศ. 2528 |
เลขตู้ | : 72/36650 |