เลขที่หนังสือ | : กค 0702/2689 |
วันที่ | : 3 เมษายน 2552 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเครดิตภาษีเงินปันผลที่ได้รับจากต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | นาย A มีสัญชาติสวีเดน ปัจจุบันเกษียณอายุและเข้ามาซื้อที่พักอาศัยที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย มีภรรยาและบุตรชาย 1 คน โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละปี (ประมาณ 10 เดือน) อาศัยอยู่ในประเทศไทย และได้กลับออกไปท่องเที่ยวและเยี่ยมญาติ ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว 1. ในปีภาษี 2551 นาย A ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยหลายระยะเวลา รวมระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด เกินกว่า 200 วัน นาย A เข้าใจว่า การที่นาย A และครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเกิน 180 วัน ถือได้ว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ ในประเทศไทย ในปีภาษี 2551 และต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่ 2. นาย A ได้รับเงินปันผลในปี 2551 จากบริษัท C ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และมีการบริหารจัดการโดย บริษัท B ซึ่งดำเนินการจ่ายเงินปันผลให้แก่นาย A เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพในประเทศไทย รวมทั้งนำส่งภาษีเงินปันผล ในประเทศเนเธอร์แลนด์ นาย A เข้าใจว่า มีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าว มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 รวมถึงเงินได้พึงประเมินอื่น (ถ้ามี) ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2552 และมีสิทธินำภาษีของเงินปันผลดังกล่าวที่ได้ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งไว้แล้วในประเทศเนเธอร์แลนด์ มาเครดิตภาษีในประเทศไทยเมื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ได้ ถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | เนื่องจากในปีภาษี 2551 นาย A อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วัน ดังนั้น นาย A จึงเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และนาย A มีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับ จากบริษัท C ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเงินได้ จากทรัพย์สินในต่างประเทศ มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย หากนาย A นำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาใน ประเทศไทยในปีภาษีดังกล่าว ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีที่เงินปันผลดังกล่าว ได้เสียภาษีเงินได้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ หากนาย A มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามข้อ 4 แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน นาย A มีสิทธินำภาษีเงินได้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มาหักออกจาก ภาษีไทยที่เป็นสัดส่วนอันเหมาะสมกับเงินได้ดังกล่าว ตามข้อ 23 วรรคหก แห่งอนุสัญญาดังกล่าว |
เลขตู้ | : 72/36523 |