เลขที่หนังสือ กค 0702/123 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ้างแรงงานข้ามชาติ

เลขที่หนังสือ กค 0702/123 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ้างแรงงานข้ามชาติ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/123
วันที่ : 8 มกราคม 2552
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ้างแรงงานข้ามชาติ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1)(2) มาตรา 48 และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            มีลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีทั้งแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน และที่ไม่มีใบอนุญาตการทำงาน โดยบริษัทนายจ้าง ผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้าง ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากค่าจ้างขั้นต่ำ (เป็นเงิน 203 บาทต่อวันต่อคน) มูลนิธิจึงขอทราบ ดังนี้
           1. ลูกจ้างซึ่งมีเงินได้จากค่าจ้างขั้นต่ำ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อัตราใด และจะต้องเสียภาษีเงินได้เมื่อใด
           2. บุคคลใดเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
แนววินิจฉัย            กรณีบุคคลธรรมดาชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายหรือไม่ มีเงินได้จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
           1. กรณีบุคคลธรรมดาดังกล่าว มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลธรรมดาดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                (ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 50,000 บาท
                (ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 100,000 บาท
                บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยในการคำนวณภาษี ให้นำเงินได้พึงประเมิน หักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักด้วยค่าลดหย่อนคงเหลือเท่าใด เป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
           2. กรณีบุคคลธรรมดาดังกล่าว มีเงินได้จากการรับทำงานให้ ซึ่งเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                (ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 30,000 บาท
                (ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 60,000 บาท
                บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยในการคำนวณภาษี ให้นำเงินได้พึงประเมินหักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักด้วยค่าลดหย่อนคงเหลือเท่าใด เป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป โดยไม่รวมเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินคูณด้วยร้อยละ 0.5 ได้ภาษีจำนวนเท่าใดให้นำไปเปรียบเทียบกับภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีแรก โดยให้เสียภาษีเงินได้จากจำนวนเงินภาษีที่มากกว่า ตาม มาตรา 48 (1) และ (2) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
           3. กรณีบริษัทเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดย การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ได้เงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินท่าใด ให้หักภาษีไว้จำนวนเท่านั้น
                สำหรับเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทแรกใน ปีภาษีนั้น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551
เลขตู้ : 72/36323

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 468
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores