เลขที่หนังสือ | : กค 0702/7643 |
วันที่ | : 10 พฤศจิกายน 2551 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินค่าก่อสร้างสะพานข้าม แม่น้ำโกลกแห่งที่ 2 ให้แก่บริษัทมาเลเซีย ผ่านรัฐบาลมาเลเซีย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | กรม ท. หารือเกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงิน ค่าก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้ 1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียได้เห็นชอบให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2 เชื่อมระหว่าง บ้านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส กับ Bukit Bunga,Tanah Merah,Kelantan,Malaysia โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศตกลงออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างฝ่าย ละครึ่งหนึ่ง และได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 2. ต่อมารัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสะพาน ดังกล่าว กับ Trawide Holding Sdn. Bhd (บริษัทฯ) ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย ไม่มีสาขาในประเทศไทย ในวงเงิน 9,175,665.86 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 93,334,873.13 บาท)ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง จึงเป็นของรัฐบาลมาเลเซีย 4,587,832.93 ริงกิตมาเลเซีย และรัฐบาลไทย 4,587,832.93 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 46,667,436.56 บาท) โดย บริษัทฯ จะใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 11 เดือน 3. รัฐบาลมาเลเซียได้จ่ายเงินค่าจ้างแต่ละงวดในส่วนของรัฐบาลมาเลเซียและได้ทดรอง จ่ายค่าจ้างในส่วนของรัฐบาลไทยให้แก่บริษัทผู้รับจ้างจนงานแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 รัฐบาลมาเลเซียได้แจ้งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนที่รัฐบาลไทยรับผิดชอบ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้เบิกจ่ายเงินจากเงินงบประมาณของกรมทางหลวง เป็นเงิน 4,575,577.86 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 48,867,171 บาท) จึงขอทราบว่า ในการจ่ายเงินของฝ่ายรัฐบาลไทยดังกล่าว กรม ท. มีหน้าที่นำส่งภาษี มูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | 1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากค่าจ้างก่อสร้างสะพานตามสัญญาดังกล่าว เข้าลักษณะ เป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น หากบริษัทฯ เข้ามาก่อสร้างสะพานในประเทศไทยเป็นเวลาเกินกว่า 6 เดือน กรณีดังกล่าวถือว่าบริษัทฯ มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 วรรคสอง(ซ) แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศมาเลเซียเพื่อการเว้น การเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในการจัดเก็บภาษีจากเงินได้ ฉะนั้น บริษัทฯ ต้องนำเงินได้จากการก่อสร้างสะพานในส่วนที่พึงถือได้ว่าเป็นของสถานประกอบการถาวร มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว และกรมทางหลวงผู้จ่ายค่าจ้างมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ นิติบุคคล ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่บริษัทฯ เข้ามารับจ้างก่อสร้างสะพานในประเทศไทย นั้น เข้าลักษณะ เป็นกรณีที่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ดังนั้น หากบริษัทฯ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรม ท. ผู้จ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างสะพาน มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีในอัตรา ร้อยละ 7.0 ของค่าจ้าง ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 36 ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน |
เลขตู้ | : 71/36209 |