เลขที่หนังสือ | : กค 0702/4585 |
วันที่ | : 1 สิงหาคม 2551 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ของชาวต่างประเทศที่เข้ามาประกอบอาชีพ อาจารย์ในประเทศไทย |
ข้อกฎหมาย | : - |
ข้อหารือ | มหาวิทยาลัยฯ มีอาจารย์ชาวต่างประเทศเข้ามาทำหน้าที่สอนหรือวิจัยในภารกิจของ มหาวิทยาลัยฯ จากหลายประเทศ มหาวิทยาลัยฯ จึงขอหารือดังนี้ 1. อาจารย์ชาวต่างชาติจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย จากค่าตอบแทนการสอนที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยฯ หรือไม่ อย่างไร 2. หากอาจารย์ชาวต่างชาติได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจารย์ชาวต่างชาติ มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ถูกมหาวิทยาลัยฯ หักไว้ หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | 1. ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สหราชอาณาจักรอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกัน การเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ เงินค่าตอบแทนในการสอนหรือ เงินได้จากการวิจัยซึ่งศาสตราจารย์ ครู หรือนักวิจัยที่ได้รับจากการเข้ามาทำการสอนหรือ วิจัยในประเทศไทยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยเฉพาะในกรณีที่ เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (ก) ศาสตราจารย์ หรือครู ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียที่เดินทางเข้ามา ทำการสอนหรือวิจัยตามคำเชิญของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา อื่นใดที่คล้ายคลึงกันที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามข้อ 20 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและประเทศออสเตรเลีย เพื่อการเว้นการเก็บ ภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ อนึ่ง หากเป็นค่าตอบแทนซึ่งศาสตราจารย์ หรือครู ได้รับจากการทำวิจัยซึ่งเพื่อประโยชน์ ส่วนตัวโดยเฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลแล้ว ก็จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าว (ข) ศาสตราจารย์ ครู และนักวิจัย ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เดินทางเข้ามาทำการสอนหรือวิจัยตามคำเชิญของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน หรือ สถาบันการศึกษาอื่นใด ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ตามข้อ 21 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี เก็บจากเงินได้ อนึ่ง เงินได้จากการวิจัยที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน ประเทศไทยจะต้องเป็นการวิจัยที่ดำเนินการโดยบุคคลธรรมดาเพื่อสาธารณประโยชน์ และ มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นใด (ค) ศาสตราจารย์ หรือครู ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษที่เดินทาง เข้ามาทำการสอนหรือวิจัยในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับ ในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เป็นครั้งแรก เพื่อทำการสอนหรือวิจัยดังกล่าว ตามข้อ 21 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี เก็บจากเงินได้ อนึ่ง เงินได้จากการวิจัยที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน ประเทศไทย จะต้องเป็นการวิจัยที่ดำเนินการโดยศาสตราจารย์หรือครูเพื่อสาธารณประโยชน์ และมิได้เพื่อประโยชน์ของเอกชนหรือบุคคลอื่นใดเป็นสำคัญ (ง) ครู ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เดินทางเข้ามาทำการสอนหรือวิจัย ในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือ สถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทย โดยมี ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อทำการ สอนหรือการวิจัยดังกล่าว ตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่ง ราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกัน การเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ อนึ่ง เงินได้จากการวิจัยที่ได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยจะต้องเป็นการวิจัยที่ได้ดำเนินการโดย บุคคลธรรมดา เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่ได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเอกชนบางคน หรือเอกชนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าว หากครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี สำหรับศาสตราจารย์ อาจารย์ หรือครู ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ ประเทศ สหรัฐอเมริกา หรือหากครบกำหนด 3 ปี ในกรณีของศาสตราจารย์ ครู หรือนักวิจัยที่มีถิ่น ที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และบุคคลดังกล่าว ยังมิได้เดินทางออกจากประเทศไทย แล้วย่อมเป็นเหตุให้ระยะเวลาในการเข้ามาเยือนเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงแห่งอนุสัญญาฯ ซึ่งจะมีผลทำให้บรรดาศาสตราจารย์ ครู หรือนักวิจัยเหล่านั้น ไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่แรกที่เข้ามาเยือนประเทศไทย 2. กรณีอาจารย์ชาวต่างชาติที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และได้ถูก มหาวิทยาลัยฯ หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสีย อาจารย์ ชาวต่างชาติมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินนั้นภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปี ซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 71/36053 |