เลขที่หนังสือ | : กค 0702(กม.06)/842 |
วันที่ | : 6 มิถุนายน 2551 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคา ข้อหารือ สำนักมาตรฐานการกำกับและ ตรวจสอบภาษี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัทฯ ประกอบกิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊ส เป็นสถานีบริการอิสระขนาด 32 หัวจ่าย แบ่งเป็นหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 24 หัวจ่าย แก๊ส 8 หัวจ่าย มีถังน้ำมันใต้ดิน จำนวน 3 ถัง ขนาดบรรจุ ถังละ 21,000 ลิตร ถังแก๊สใต้ดิน จำนวน 2 ถัง ขนาดบรรจุถังละ 8,500 กิโลกรัม มีพนักงาน 19 คน ในปี 2547 บริษัทฯ หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของถังน้ำมันใต้ดิน ระบบการเดินน้ำมัน ตู้และหัวจ่ายน้ำมัน โดยหักค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา อัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน ตามมาตรา 4 ฉ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 จึงขอทราบว่า มูลค่าของทรัพย์สินที่นำมารวมคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าว ถือเป็น เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามกฎหมายได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | ตู้หัวจ่ายน้ำมันพร้อมถังน้ำมันใต้ดิน จะถือเป็นทรัพย์สินตัวเดียวกันที่ต้องทำงานรวมกันหรือเป็นทรัพย์สิน ที่แยกออกจากกันได้นั้น จะต้องพิจารณาว่า เมื่อแยกตู้หัวจ่ายและถังน้ำมันใต้ดินออกจากกันแล้ว ทรัพย์สินทั้ง 2 ประเภท ยังคงมีประโยชน์ในตัวเองและไม่ทำให้สภาพของทรัพย์สินของแต่ละประเภทสูญสิ้นไปหรือไม่ หาก ทรัพย์สินเหล่านี้เมื่อแยกกันใช้ จะยังคงมีประโยชน์ในตัวเอง ก็ให้ถือว่า ทรัพย์สินดังกล่าว สามารถแยกจากกันได้ ดังนั้น ตู้หัวจ่ายน้ำมัน คือ กลอุปกรณ์ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเครื่อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการคำนวณปริมาณน้ำมัน ต่อลิตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงเป็นเครื่องจักร (เครื่องจักร หมายถึง กลอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเครื่อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) ส่วนถังน้ำมันใต้ดินเป็นทรัพย์สินอื่นที่มิใช่เครื่องจักร จึงเป็นทรัพย์สินที่แยก จากกันได้ และทรัพย์สินทั้ง 2 ประเภท จึงต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ดังนี้ 1. ตู้พร้อมหัวจ่ายน้ำมัน ถือเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักร บริษัทฯ มีสิทธิคำนวณหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 ฉ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้น ในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว 2. ถังเก็บน้ำมันใต้ดิน เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น บริษัทฯ มีสิทธิคำนวณหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อม ราคาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ มาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน |
เลขตู้ | : 71/3592 |