• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0706/พ./8572 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมูลค่าฐานภาษีที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ กค 0706/พ./8572 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมูลค่าฐานภาษีที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0706/พ./8572 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมูลค่าฐานภาษีที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ กค 0706/พ./8572 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมูลค่าฐานภาษีที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ : กค 0706/พ./8572
วันที่ : 23 สิงหาคม 2550
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมูลค่าฐานภาษีที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(8) มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 81/1 มาตรา 85/1(1) มาตรา 77/2(1) และมาตรา 88(1)(6)
ข้อหารือ         นาย ก. เป็นผู้ประกอบการอู่ ส. ช่าง ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจาก มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการไม่ถึง 1,200,000 บาทต่อปี ต่อมาเจ้าหน้าที่สรรพากรเชิญไปพบ และแจ้งว่า นาย ก. มีรายรับจากการประกอบกิจการเกินกว่า 1,200,000 บาทต่อปี ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2547 และให้ชำระภาษีย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2549 แต่เนื่องจากในปี 2548 ได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 สำหรับมูลค่าฐานภาษีไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 นาย ก. จึงขอทราบว่า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม สิ้นสุดลงในเดือนภาษีมีนาคม 2548 ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย         1. กรณีนาย ก. ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการใดๆ ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีมูลค่าของฐานภาษีเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม และกิจการดังกล่าวไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบกิจการนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น เมื่อนาย ก. ประกอบกิจการโดยมีรายรับเกิน 1,200,000 บาทต่อปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547 จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน30 วัน นับแต่วันที่มูลค่าฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8) มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 81/1 และตามมาตรา 85/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 เมื่อไม่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การประกอบกิจการของนาย ก. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547 จึงเป็นการประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องรับผิดตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
            (1) เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 จากยอดรายรับ ตามมาตรา 80 และมาตรา 82(1) แห่งประมวลรัษฎากร
            (2) เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี ตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร
            (3) เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
            (4) ต้องระวางโทษปรับ ตามมาตรา 90/2 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
        2. กรณีประกอบการโดยมิได้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 1. นาย ก. ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ให้สิ้นสุดลงในเดือนภาษีมีนาคม 2548 ตามมาตรา 77/2(1) มาตรา 88(1) และ (6) และมาตรา 88/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 ซึ่งได้กำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 เป็นต้นไป โดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 ยังคงใช้บังคับต่อไป เฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ค้างอยู่หรือพึงชำระก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 ใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว
เลขตู้ : 70/35244

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 637
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores