เลขที่หนังสือ กค 0706/(กม.04)/822 อากรแสตมป์ กรณีการทำสัญญาซื้อขายหรือจ้างทำของ

เลขที่หนังสือ กค 0706/(กม.04)/822 อากรแสตมป์ กรณีการทำสัญญาซื้อขายหรือจ้างทำของ

เลขที่หนังสือ : กค 0706/(กม.04)/822
วันที่ : 3 กรกฎาคม 2549
เรื่อง : ;อากรแสตมป์ กรณีการทำสัญญาซื้อขายหรือจ้างทำของ
ข้อกฎหมาย : -
ข้อหารือ :
       1. บริษัท A ทำสัญญาว่าด้วยการซื้อขายสินค้า (Hard Disc Drive) กับ บริษัท B โดยมีสาระสำคัญดังนี้
       1.1 บริษัท A จะจัดหาสินค้าให้แก่ บริษัท B และบริการที่ได้ระบุไว้ในข้อกำหนดของงาน มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า
              (ก)เมื่อเริ่มต้นแต่ละรอบเวลา บริษัท A จะแจ้งกำลังการผลิต และแผนการผลิตให้ บริษัท B ทราบ เมื่อ บริษัท B ส่งคำสั่งซื้อสินค้าให้บริษัท A แล้ว บริษัท A จะต้องรักษาความสามารถในการผลิตตามปริมาณที่ บริษัท B ได้แจ้งความต้องการไว้
              (ข)ชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต บริษัท A จะต้องซื้อจาก บริษัท B หรือบริษัทในเครือของบริษัท B ซึ่งผลิตแล้วขายให้บริษัท A หรือซื้อจากผู้จำหน่าย (Vendor) ซึ่ง บริษัท B รับรองเท่านั้น
              (ค)บริษัท A จะต้องผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อเท่านั้น หากบริษัท A จะซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเกินกว่าความต้องการที่จะผลิตสินค้าเพื่อขายให้ บริษัท B จะต้องได้รับอนุมัติจาก บริษัท B ก่อน
              (ง)บริษัท A จะต้องผลิตตามข้อกำหนดทางเทคนิคและใช้แบบของสินค้า (Design) ซึ่ง บริษัท B หรือบุคคลที่ บริษัท B มอบหมายแจ้งแก่บริษัท A และจะต้องผลิต ณ โรงงานที่กำหนด โดย บริษัท B ขอสงวนสิทธิ์ที่จะขอให้เปลี่ยนสถานที่โรงงาน ซึ่งบริษัท A ใช้ในการผลิตสินค้า
              (จ)บริษัท A จะแจ้งราคาก่อนเริ่มไตรมาส โดยเป็นราคาที่รวมค่าขนส่ง (กำหนดราคาโดยตั้งราคาระหว่างบริษัท (Inter-Company) เป็นเกณฑ์ และใช้วิธีต้นทุนบวกกำไร (Cost Plus Methodology) โดยมีกำไรมาตรฐานในด้านชิ้นส่วน 2% และกำไรมาตรฐานในการดำเนินการระหว่างบริษัท (Inter-Company) 8%)
              (ฉ)ค่าใช้จ่ายในการผลิต บริษัท A จะรับผิดชอบในการจัดหา ดำเนินการ และชำระค่าวัสดุทั้งปวง รวมทั้งทรัพย์สินฝ่ายทุน เครื่องมือ และสิ่งของ ที่ใช้ผลิตสินค้า ตามข้อกำหนดรายละเอียดของ บริษัท B
              (ช)กรรมสิทธิ์และความเสี่ยงภัยในการสูญหายหรือเสียหายจะโอนจากบริษัท A ไปยังบริษัท B เมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับขนตามที่ บริษัท B กำหนด
       1.2 บริษัท A จะเริ่มงานหลังจากได้รับคำอนุญาตให้ดำเนินงาน (WA) จาก บริษัท B แล้วเท่านั้น
       1.3 บริษัท B อาจบอกเลิกสัญญาโดยมีมูลเหตุหรือไม่มีมูลเหตุก็ได้ และบริษัท A จะต้องดำเนินการดังนี้
              (ก)หยุดงานการผลิต
              (ข)ทำรายการผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมด ทั้งที่เสร็จสมบูรณ์และเสร็จบางส่วนส่งมอบแก่ บริษัท B
              (ค)ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เสร็จเรียบร้อยจนถึงวันบอกเลิกสัญญาในราคาตามที่ตกลงให้แก่ HGSTS
              (ง)ส่งมอบงานต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจนถึงวันบอกเลิกสัญญากรณีที่ บริษัท B บอกเลิกสัญญาโดยไม่มีมูลเหตุ บริษัท B จะชดเชยให้แก่บริษัท A สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการจนถึงวันบอกเลิกสัญญา โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัท A จะต้องใช้ความพยายามตามสมควรในการบรรเทาความรับผิดของ บริษัท B
       2. ภญ. เห็นว่า รายละเอียดของสัญญาบางประเด็นอาจพิจารณาได้ว่า เป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งบริษัท A มีหน้าที่ต้องปิดอากรแสตมป์ กล่าวคือ
       2.1 ข้อกำหนดตามสัญญามุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญมากกว่ามุ่งโอนกรรมสิทธิ์ เช่น        บริษัท A จะต้องผลิต HDD ตามข้อกำหนดทางเทคนิคและใช้แบบของผลิตภัณฑ์ของ บริษัท B และการชำระเงินยังไม่ถือเป็นการยอมรับผลิตภัณฑ์หรือบริการ จนกว่าจะผ่านการตรวจสอบและทดสอบโดย บริษัท B ซึ่งอาจใช้ดุลยพินิจปฏิเสธผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่เป็นไปตามรายละเอียดทางเทคนิค
       2.2 ;บริษัท A ผลิต HDD เพื่อขายให้กับ บริษัท B โดยไม่มีการขายให้กับลูกค้าอื่นเลย
       2.3 บริษัท A ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในการดำเนินกิจการ เช่น
              2.3.1 หากบริษัท A จะสั่งซื้อวัตถุดิบเกินกว่าความต้องการที่จะใช้ผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ บริษัท A จะต้องได้รับอนุมัติจาก HGSTS
              2.3.2 บริษัท A จะแจ้งกำลังการผลิตและแผนการผลิตให้ บริษัท B ทราบ และบริษัท A จะต้องรักษาความสามารถในการผลิตเพื่อขายสินค้าตามปริมาณที่ บริษัท B ได้แจ้งความต้องการไว้
              2.3.3 ชิ้นส่วนที่จะนำมาประกอบเป็นสินค้า บริษัท A จะต้องใช้ชิ้นส่วนบางประเภทของ บริษัท B หรือในกลุ่ม หรือซื้อชิ้นส่วนจากผู้จำหน่ายอื่นที่ บริษัท B อนุมัติ และในส่วนของการเจรจาเรื่องราคาการซื้อ รวมทั้งการประชุมหารือในเรื่องการทำสัญญากับผู้จำหน่ายนั้น เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของ บริษัท B
       2.4 ข้อกำหนดที่ให้บริษัท A ต้องปฏิบัติเมื่อ บริษัท B บอกเลิกสัญญา แสดงให้เห็นว่า การมอบหมายให้บริษัท A ซื้อวัตถุดิบเอง เป็นเพียงการมอบหมายภาระในการรับวัตถุดิบเท่านั้น แต่บริษัท B เป็นผู้รับผิดชอบต่อสัมภาระ เช่น สินค้าสำเร็จรูป วัตถุดิบ และงานระหว่างทำด้วย และหากพิจารณาประกอบกับข้อ 2.3 เห็นว่า บริษัท A จะต้องซื้อวัตถุดิบจากผู้จำหน่ายชิ้นส่วนที่ บริษัท B รับรองเท่านั้น การเจรจาตกลงเรื่องราคาของวัตถุดิบและการประชุมตกลงทำสัญญาซื้อวัตถุดิบกับผู้จำหน่ายชิ้นส่วน ให้เป็นความรับผิดชอบของ บริษัท B โดยบริษัท A มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านคุณภาพของ HDD เท่านั้น
       2.5 ในสัญญามีข้อความระบุว่า ธุรกรรมในสัญญาให้รวมถึง Service และ Product
แนววินิจฉัย :       กรณีบริษัท A ทำสัญญาว่าด้วยการซื้อขายสินค้า กับ บริษัท B โดยบริษัท A มิได้ผลิตสินค้าดังกล่าวขายเป็นปกติทั่วไป แต่เป็นการผลิตสินค้าตามคำสั่งของ บริษัท B เท่านั้น โดย บริษัท B จะแจ้งข้อกำหนดทางเทคนิคและแบบของสินค้า (Design) มาให้บริษัท A เพื่อใช้ผลิตสินค้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นอยู่กับความต้องการของ บริษัท B วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า บริษัทฯจะต้องซื้อจาก บริษัท B หรือบริษัทในเครือของ บริษัท B หรือผู้จำหน่ายอื่นซึ่ง บริษัท B รับรอง โดย บริษัท B จะเป็นผู้ตกลงราคาค่าชิ้นส่วนกับผู้จำหน่ายนั้นเอง และเมื่อผลิตสินค้าเสร็จแล้ว บริษัท B ตกลงจะยอมรับสินค้าที่ตรงตามคำสั่งของตนเท่านั้น สัญญาดังกล่าวจึงมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ มากกว่าการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัท A จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
เลขตู้ :69/34339

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 506
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores