• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0706(กม.04)/883 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในบริษัทต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ กค 0706(กม.04)/883 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในบริษัทต่างประเทศ

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0706(กม.04)/883 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในบริษัทต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ กค 0706(กม.04)/883 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในบริษัทต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ : กค 0706(กม.04)/883
วันที่ :20 กรกฎาคม 2549
เรื่อง :ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในบริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย :พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442)
ข้อหารือ :              บริษัทฯ ได้ลงทุนประกอบธุรกิจโดยถือหุ้นสามัญในบริษัทต่างประเทศ จำนวน 3 บริษัท และ ได้รับเงินปันผลจากการลงทุนดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้
             1. บริษัทฯ ถือหุ้นสามัญในบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ จำนวนร้อยละ 49 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน โดยบริษัท U ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล เงินปันผลที่บริษัท U จ่ายให้บริษัทฯ เป็นการจ่ายจากกำไร 2 ส่วนคือใส่เครื่องหมายในช่องข้อความว่า "เงินปันผลที่จ่ายจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ" ถูกต้องหรือไม
             (ก) กำไรที่ได้จากเรือที่บริษัท U เป็นเจ้าของและจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกำไรในส่วนนี้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศสิงคโปร์
             (ข) กำไรที่ได้จากเรือที่บริษัท U เช่าหรือว่าจ้างมาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งกำไรในส่วนนี้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศสิงคโปร์ ในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิบริษัทฯ หารือว่า
             1.1 เงินปันผลที่จ่ายจากกำไรตาม (ก) ซึ่งบริษัท U ไม่เคยเสียภาษีเงินได้ในประเทศสิงคโปร์มาก่อน บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ 23 วรรค 2 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ถูกต้องหรือไม่
             1.2 เงินปันผลที่จ่ายจากกำไรตาม (ข) ซึ่งบริษัท U เคยเสียภาษีเงินได้ในประเทศสิงคโปร์ ในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
                   1.2.1 กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินปันผลก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 มีผลใช้บังคับบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ 23 วรรค 2 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ฯ ถูกต้องหรือไม่
                   1.2.2 กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินปันผลหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 มีผลใช้บังคับ บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
             2. บริษัทฯ ถือหุ้นสามัญในบริษัท ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ จำนวนร้อยละ 100 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบัน โดยบริษัท L ประกอบธุรกิจด้านการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ถ่านหินและสาธารณูปโภคในต่างประเทศ (Holding Company) บริษัท L ลงทุนถือหุ้นสามัญในบริษัท H ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย คิดเป็นร้อยละ 55 ของทุนที่ชำระแล้ว โดยบริษัท H ประกอบกิจการเหมืองถ่านหิน และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศอินโดนีเซีย อัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ เมื่อบริษัท H จ่ายเงินปันผลให้บริษัท L จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 และบริษัท L ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศสิงคโปร์อีก เมื่อบริษัท L จ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ บริษัท L ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ หารือว่า
             2.1 เงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัท L ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 มีผลใช้บังคับ บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ 23 วรรค 2 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ฯถูกต้องหรือไม่
             2.2 เงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัท L หลังวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 มีผลใช้บังคับ บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่
             3. บริษัทฯ ถือหุ้นสามัญในบริษัท M ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย จำนวนร้อยละ 99 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยบริษัท M ประกอบธุรกิจรับจ้างผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหิน เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศอินโดนีเซีย อัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ เมื่อบริษัท M จ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทฯ บริษัท M จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ตามข้อ 10 วรรค 2(ก) แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีจากเงินได้ บริษัทฯ หารือว่า
             3.1 บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 ถูกต้องหรือไม่
             3.2 บริษัทฯ สามารถนำค่าภาษีเงินได้ที่บริษัท M หัก ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15 มาหักเป็นรายจ่าย หรือใช้เป็นเครดิตในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยได้หรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย :            กรณีบริษัทฯ ลงทุนประกอบธุรกิจโดยถือหุ้นในบริษัทต่างประเทศ จำนวน 3 บริษัท เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศดังกล่าว บริษัทฯ มีภาระภาษีดังนี้
            1. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัท U และบริษัท L ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ แยกพิจารณาได้ดังนี้
             1.1 บริษัทฯ ได้รับเงินปันผลก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 มีผลใช้บังคับ โดยบริษัทฯ ไม่มีภาระภาษีจากเงินปันผลในประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย และไม่เข้าลักษณะการยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 แต่อย่างใด
             1.2 บริษัทฯ ได้รับเงินปันผลในหรือหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 มีผลใช้บังคับ
                   1.2.1 กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัท U ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัท U ผู้จ่ายเงินปันผลร้อยละ 49 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล และเงินปันผลที่บริษัท U จ่ายให้แก่บริษัทฯ มาจากกำไรสุทธิที่มีการเสียภาษีในประเทศสิงคโปร์ ในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ไม่ว่าประเทศสิงคโปร์จะมีกฎหมายลดหรือยกเว้นภาษีสำหรับกำไรสุทธิให้แก่บริษัท U หรือไม่ก็ตาม บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท U ตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548
                   1.2.2 กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัท L ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัท L ผู้จ่ายเงินปันผลร้อยละ 100 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล โดยเงินปันผลดังกล่าวบริษัท L ได้รับมาจากบริษัท H ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย และเนื่องจากประเทศสิงคโปร์มีกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลว่า บริษัท L ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท H ไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของบริษัท L ในประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น บริษัทฯ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท L ตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548
             2. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัท M ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย
             2.1 บริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัท M ผู้จ่ายเงินปันผลร้อยละ 99 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาจนถึงวันที่ได้รับเงินปันผล และเงินปันผลที่บริษัท M จ่ายให้แก่บริษัทฯ มาจากกำไรสุทธิที่มีการเสียภาษีในประเทศอินโดนีเซียในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ ตามกฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้น บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท M ตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548
             2.2 บริษัทฯ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในประเทศอินโดนีเซีย ในอัตราร้อยละ 15 โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลดังกล่าว ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 5 วีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 442) พ.ศ.2548 บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิเลือกนำภาษีที่เสียไปในประเทศอินโดนีเซียมาขอเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้สิทธิประโยชน์ในฐานะผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ตามข้อ 23 แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีที่เสียไปในประเทศอินโดนีเซียมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ :69/34381

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 593
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores