เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.04)/237 |
วันที่ | : 2 มีนาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ การรับแบบแสดงรายการภาษี กรณีวันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : กรณีการรับแบบแสดงรายการภาษีที่วันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ เนื่องจากในระบบ TCL หากผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีในวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการ ระบบฯ จะไม่คิดเงินเพิ่ม แต่ถ้าผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ก่อนวันสุดท้ายโดยไม่ได้ชำระภาษีหรือชำระภาษีบางส่วน หากต่อมาผู้เสียภาษีมาชำระภาษีส่วนที่เหลือในวันเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น ระบบฯ จะคิดเงินเพิ่ม เช่น กำหนดวันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีในวันที่ 7 มกราคม 2549 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ หากผู้เสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2549 แต่ไม่ได้ชำระภาษีหรือชำระภาษีเพียงบางส่วน ระบบฯ จะตั้งหนี้ค้างไว้ตามแบบ บ.ช.35 ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2549 ผู้เสียภาษีได้นำเงินมาชำระภาษี ระบบฯ จะคิดเงินเพิ่มโดยคำนวณเป็นหนี้ค้างตามแบบ บ.ช.35 สำนักฯ จึงหารือว่ากรณีดังกล่าวผู้เสียภาษีต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่งหรือแบบนำส่งภาษี หากวันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น กรณีที่ผู้เสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีในวันที่ 6 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลาแล้ว แต่ไม่ได้ชำระภาษีหรือชำระภาษีเพียงบางส่วน โดยระบบ TCL จะตั้งเป็นหนี้ค้างตามแบบ บ.ช.35 เมื่อผู้เสียภาษีนำเงินมาชำระภาษีในวันที่ 9 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น เนื่องจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ โดยที่การยื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษีทั้งสองครั้งดังกล่าว เป็นการชำระภาษีภายในกำหนดเวลา ผู้เสียภาษีจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 69/33947 |