เลขที่หนังสือ | : กค 0811/07026 |
วันที่ | : 25 พฤษภาคม 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการบันทึกบัญชีสำหรับข้อผูกพันตามสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า |
ข้อกฎหมาย | : คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.68/2541 |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในระบบCellular 900 และ Digital GSM ได้ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอน เนื่องจากบริษัทฯ มีรายได้เป็นเงินบาท ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต บริษัทฯ จึงได้เปลี่ยนเงินกู้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศเป็นเงินบาท โดยการทำ Currency Swap กับสถาบันการเงิน หรือ Investment Banking ใน ต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ 1. A. ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่ประกอบกิจการ Investment Banking ระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง มีธุรกรรมหลักให้บริการแก่ลูกค้าทั่วโลก ในด้านการรับประกัน จัดจำหน่าย และการค้าหลักทรัพย์ทั้งของภาครัฐและเอกชน การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และตราสารอนุพันธ์ ที่ปรึกษาทางการเงิน การควบ และการโอนกิจการ เป็นต้น 2. B. เป็นบริษัทในเครือของ J.P.Morgan ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำระหว่างประเทศอีกแห่งหนึ่ง ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องในด้านการเงินต่าง ๆ เช่น ให้บริการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ สินค้าการเกษตรล่วงหน้า ที่ปรึกษาด้านการลงทุนในตลาดตราสารต่าง ๆ ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ฯลฯ 3. C. เป็นสถาบันการเงินประเภท Investment Banking ซึ่ง SumitomoBank เป็นเจ้าของทุนทั้งหมด ประกอบกิจการให้บริการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยมีSumitomo Bank เป็นผู้ให้ประกันทั้ง 3 บริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ และเป็นสถาบันการเงินชั้นนำระหว่างประเทศของโลก โดยเฉพาะในด้านธุรกิจการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะมีลูกค้าทั่วโลกเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการการที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ กับสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่งข้างต้นจะอยู่ในข่ายที่ถือได้ว่า เป็นการทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศกับคู่สัญญาที่เป็นธนาคารพาณิชย์ตามข้อ 1 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.68/2541 หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กรมสรรพากรได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีความประสงค์จะนำข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ามาบันทึกบัญชี ณ วันทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.68/2541 เรื่อง ข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2541 ข้อ 1 (1) และข้อกำหนดดังกล่าวเป็นหลักการซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันมิให้การซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในลักษณะการเก็งกำไร โดยการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศนั้นต้องมีความเสี่ยงเกิดขึ้นจริงและต้องทำการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นไว้กับธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะมีสถานประกอบการในประเทศไทยหรือไม่ กรณีที่คู่สัญญามีสถานประกอบการในต่างประเทศ จะต้องมีลักษณะเป็นสถาบันการเงินในลักษณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้เกิดความคลาดเคลื่อนและเกิดปัญหาในการพิจารณา หากกรณีที่คู่สัญญาเป็นสถาบันการเงินต่างประเทศกรมสรรพากรจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไปกรณีตามข้อเท็จจริง บริษัท ก. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีหนี้ต่างประเทศจำนวนสูง และได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงในลักษณะ Currency Swap หรือ Swap Transaction กับสถาบันการเงินในต่างประเทศ 3 แห่ง คือ A., B. และ C. ซึ่งสถาบันการเงินดังกล่าว มีฐานะเป็นวาณิชธนกิจ หรือInvestment Bank ดังนั้นบริษัทฯ มีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.68/2541 เรื่อง ข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2541 เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ |
เลขตู้ | : 61/26690 |