เลขที่หนังสือ | : กค 0811/02217 |
วันที่ | : 19 กุมภาพันธ์ 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนของบริษัทผู้รับประกันภัย |
ข้อกฎหมาย | : ประเด็นปัญหา |
ข้อหารือ | : กรณีเงินค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทผู้รับประกันภัย มีหน้าที่ชดใช้ให้กับผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย ดังนี้ 1. เงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด หรือเงินที่ได้จากการประกันภัย ที่ผู้เอาประกันภัยได้รับ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากรใช่หรือไม่ 2. กรณีบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าซ่อมยานพาหนะดังต่อไปนี้บริษัทผู้รับประกันภัยมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ หรือไม่ 2.1 บริษัทผู้รับประกันภัยเป็นผู้สั่งซ่อมและชำระค่าซ่อมให้แก่ผู้รับจ้างโดยตรง 2.2 ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้สั่งซ่อม แต่บริษัทผู้รับประกันภัยเป็นผู้ชำระค่าซ่อมให้แก่ผู้รับจ้างโดยตรง 2.3 ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้สั่งซ่อม และได้สำรองจ่ายค่าซ่อมให้แก่ผู้ซ่อมไปก่อน แล้วผู้เอาประกันภัยไปเบิกเงินที่สำรองจ่ายนั้นคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัย 3. กรณีบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัยให้แก่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือคลีนิคโดยตรง บริษัทผู้รับประกันภัยมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528หรือไม่ 4. ถ้าบริษัทผู้รับประกันภัยได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้โดยไม่มีหน้าที่แล้ว บริษัทผู้รับประกันภัยจะขอคืนเงินภาษีที่หักไว้ได้หรือไม่ หรือบุคคลใดมีหน้าที่ขอคืน |
แนววินิจฉัย | : 1. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดหรือเงินที่ได้จากการประกันภัย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร 2. การซ่อมยานพาหนะและการรักษาพยาบาล เข้าลักษณะเป็นสัญญารับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้รับจ้างรับที่จะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ค่าซ่อมยานพาหนะหรือค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นค่าจ้างทำของ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีตามข้อ 2 และข้อ 3 พิจารณาดังนี้ 2.1 ถ้าบริษัทผู้รับประกันภัยเป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมยานพาหนะหรือค่ารักษาพยาบาล ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น (1) ผู้รับจ้างซ่อมยานพาหนะ โรงพยาบาลเอกชน หรือคลีนิค ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2) ผู้รับจ้างซ่อมยานพาหนะ โรงพยาบาลเอกชน หรือคลีนิค ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ทั้งนี้ ไม่ว่าบริษัทผู้รับประกันภัยหรือผู้เอาประกันภัยเป็นผู้สั่งซ่อมให้บริษัทผู้รับประกันภัยคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 เตรส ประกอบข้อ 8 (1) หรือ (2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่องสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แก้ไขโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2530 (3) โรงพยาบาลของรัฐ บริษัทผู้รับประกันภัยไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ อย่างใดเนื่องจากโรงพยาบาลของรัฐมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตากฎหมายไทย ซึ่งไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ 2.2 ถ้าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้สำรองจ่ายเงินค่าซ่อมยานพาหนะ แล้วนำใบเสร็จรับเงินไปเบิกคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัย ถ้าใบเสร็จรับเงินระบุชื่อบริษัทผู้รับประกันภัยเป็นผู้จ่ายเงินบริษัทผู้รับประกันภัยต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส ประกอบข้อ 8 (1) หรือ (2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แก้ไขโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2530 แต่ถ้าใบเสร็จรับเงินระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้จ่ายเงิน ถือเป็นกรณีบริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดหรือเงินที่ได้จากการประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยบริษัทผู้รับประกันภัยไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด แต่กรณีผู้เอาประกันภัยเป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมยานพาหนะ จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังนี้ (1) ผู้เอาประกันภัยเป็นบุคคลธรรมดา (ก) ถ้าผู้รับจ้างฯ เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ผู้เอาประกันภัยต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามมาตรา 3 เตรส ประกอบกับข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แก้ไขโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2530 (ข) ถ้าผู้รับจ้างฯเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ผู้เอาประกันภัยไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด (2) ผู้เอาประกันภัยเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส ประกอบกับข้อ 8 (1) และ (2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แก้ไขโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2530 3. เงินภาษีที่ได้หักและนำส่ง ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ผู้ต้องเสียภาษีได้รับตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ถ้าบริษัทผู้รับประกันภัยได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งไว้โดยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรแต่หากผู้มีเงินได้ไม่ประสงค์จะขอคืนภาษี ก็มีสิทธิ์ใช้ภาษีที่หักและนำส่งไว้ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้นั้น ตามมาตรา 3 เตรส ประกอบกับมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 61/26423 |