ในยุคที่กรมสรรพากร ได้มีการบริหารภายใต้นโยบายปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีและยกระดับการให้บริการด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรทุกกระบวนงาน หรือที่เรียกว่า “RD Digital Government – Data Analytics” และนำมาสู่แนวคิดเรื่อง “บัญชีเดียว” ของผู้ประกอบธุรกิจ ส่งผลให้มีการกล่าวถึง “นักบัญชีภาษีอากร” ซึ่งจะเป็นผู้ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเสียภาษีได้ถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น
ปัจจุบันสภาวิชาชีพบัญชี โดยคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร ได้มีการศึกษา “โครงการนักบัญชีภาษีอากร” เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปฏิบัติงานทางภาษีอากรได้อย่างถูกต้อง ป้องกันความผิดพลาด อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบกิจการได้ รวมถึงเพื่อเพิ่มศักยภาพทางวิชาชีพให้แก่นักบัญชีอีกด้วย ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่สภาวิชาชีพบัญชีเท่านั้น ที่เล็งเห็นความสำคัญของ “นักบัญชีภาษีอากร” ยังมีหน่วยงานทางบัญชีอื่นที่ให้ความสำคัญ โดยอาจจะเรียกชื่อที่ต่างกันไป เช่น สมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดอบรมหลักสูตรที่ปรึกษาภาษีอากร Tax Advisor หรือโรงเรียนภาษี ได้มีการจัดอบรมหลักสูตร Certified Tax Accountant นักตรวจสอบภาษีชั้นสูง เป็นต้น
เราอาจสรุปง่าย ๆ ได้ว่า “นักบัญชีภาษีอากร” คือ ผู้ที่มีความสามารถทางการบัญชีและภาษีอากรในคนเดียวกัน โดยต้องสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาภาษีอากรได้อีกด้วย เราอาจจะเห็นบุคคลเหล่านี้จากบริษัทที่เป็น Consulting Firm อย่างเช่นบริษัทที่เป็น Big 4 หรือแม้แต่ที่ปรึกษาทางภาษีที่เป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ เช่น เจ้าหน้าที่กำกับดูแล กรมสรรพากร หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร Rd Intelligence Center 1161 รวมไปถึงผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ผู้สอบบัญชีภาษีอากรในประเทศไทย ซึ่งต่างมีข้อจำกัด จุดเด่น และจุดด้อยที่ต่างกันไป
ในวันนี้ ผู้เขียนจะมาแนะนำให้ท่านได้รู้จักถึงความแตกต่างระหว่างผู้สอบบัญชีภาษีอากร และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในประเทศไทย ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชี โดยคณะกรรมการวิชาชีพบัญชี ด้านการบัญชีภาษีอากร ได้วางแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งสองเป็น “นักบัญชีภาษีอากร” เช่นกัน
ความแตกต่างระหว่างผู้สอบบัญชีภาษีอากรและผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ในปัจจุบันผู้ที่สามารถทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ในฐานะผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
ความแตกต่าง | ผู้สอบบัญชีภาษีอากร | ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต |
1. การขึ้นทะเบียน | ต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาต เป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรจากอธิบดีกรมสรรพากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.98/2544ฯ |
ต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาต เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพ พ.ศ.2547 |
2. สิทธิในการปฏิบัติงาน | สามารถตรวจสอบและรับรองบัญชีเฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก (ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท) |
สามารถตรวจสอบและรับรองบัญชีบริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร |
3. หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติงาน | ปฎิบัติงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545ฯ สำหรับการตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก | ปฏิบัติงานตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดสำหรับการตรวจสอบและรับรองบัญชีบริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดใหญ่ ปฏิบัติงานตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเช่นเดียวกับผู้สอบบัญชีภาษีอากรสำหรับการตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก |
4. การรายงานการตรวจสอบ และรับรองบัญชี |
จัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545ฯ สำหรับการตรวจสอบห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็กสำหรับการตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก | จัดทำรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตสำหรับการตรวจสอบและรับรองบัญชีบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดใหญ่ จัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเช่นเดียวกับผู้สอบบัญชีภาษีอากรสำหรับการตรวจสอบห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก |