• Home

  • Blog

  • กฎหมาย/ภาษี

  • ภาษีป้าย เรื่องที่ผู้เสียภาษีป้ายควรทำความเข้าใจ เสียภาษีป้ายแบบต่าง ๆ พร้อม ขั้นตอน วิธีคิดและการจัดเก็บภาษีป้าย

ภาษีป้าย เรื่องที่ผู้เสียภาษีป้ายควรทำความเข้าใจ เสียภาษีป้ายแบบต่าง ๆ พร้อม ขั้นตอน วิธีคิดและการจัดเก็บภาษีป้าย

  • Home

  • Blog

  • กฎหมาย/ภาษี

  • ภาษีป้าย เรื่องที่ผู้เสียภาษีป้ายควรทำความเข้าใจ เสียภาษีป้ายแบบต่าง ๆ พร้อม ขั้นตอน วิธีคิดและการจัดเก็บภาษีป้าย

ภาษีป้าย เรื่องที่ผู้เสียภาษีป้ายควรทำความเข้าใจ เสียภาษีป้ายแบบต่าง ๆ พร้อม ขั้นตอน วิธีคิดและการจัดเก็บภาษีป้าย


ภาษีป้าย เรื่องที่ผู้เสียภาษีป้ายควรทำความเข้าใจ เสียภาษีป้ายแบบต่าง ๆ พร้อม ขั้นตอน วิธีคิดและการจัดเก็บภาษีป้าย


การติดตั้งป้ายหน้าร้านนั้นเป็นเรื่องปกติที่ร้านค้ามักจะมีไว้เพื่อโฆษณาและแสดงชื่อร้าน แต่สำหรับนักธุรกิจมือใหม่หลายรายคงยังไม่ทราบว่า การติดป้ายดังกล่าวทำให้เราต้องเสียภาษีในส่วนนี้ด้วย และบางรายอาจโดนตามปรับย้อนหลังทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจจะเลี่ยงภาษี
และสำหรับภาษีป้ายก็เป็นอีกภาษีรูปแบบหนึ่งที่คนส่วนมากมักไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไร และในวันนี้ กระปุกดอทคอม ก็มีสาระน่ารู้เกี่ยวกับภาษีชนิดนี้มาฝากนักธุรกิจมือใหม่กันค่ะ ว่า ภาษีป้ายคืออะไร และเราต้องเสียหรือไม่


            ป้าย หมายความว่า ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่น ๆเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาพหรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น


ติดป้ายแบบไหน เสียภาษีป้าย

            ภาษีป้าย คือ ภาษีที่เก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใด ๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ดตามตึกตามทางด่วน ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าเราเปิดร้านกาแฟที่ตึกแถวชื่อร้านว่า "Incquity Coffee" ที่มีป้ายร้านเป็นแผ่นไม้หน้าร้านหนึ่งอัน และเป็นในรูปแบบผ้าใบอันใหญ่อีกหนึ่งอันก็ต้องเสียภาษีทั้งหมด 2 ป้าย ด้วยอัตราภาษีที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดที่กำหนด


ติดป้ายแบบไหน ไม่เสียภาษีป้าย

ตามกฎหมายแล้วป้ายที่ต้องเสียภาษี คือ ป้ายใด ๆ ที่แสดงชื่อยี่ห้อที่ใช้ในการโฆษณาหรือหารายได้บนวัตถุต่าง ๆ แต่ว่ากฎหมายยังมีข้อยกเว้นหลายข้อ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้วิธีเหล่านี้ในการติดป้ายแทนป้ายแบบปกติทั่วไปได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีด้วยวิธีดังนี้

            1. ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ

            2. ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า

            3. ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว

            4. ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์

            5. ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตรที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์

            6. ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

            7. ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตาม กฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ (ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

            8. ป้ายของโรงเรียนเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชน หรือสถาบัน อุดมศึกษาเอกชนนั้น

            9. ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน

            10. ป้ายของวัดหรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ

            11. ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ

            12. ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ปัจจุบันมีฉบับที่ 2) กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ให้เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้าย สำหรับ

             (ก) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

             (ข) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน ตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน

             (ค) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก (ก) และ (ข) โดยมีพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยตารางเซนติเมตร


ขั้นตอนในการขออนุญาตและติดตั้งป้าย

            1. ตรวจสอบความปลอดภัยของการติดตั้งป้าย

            หลังจากที่ได้ป้ายมาจากร้านรับทำป้ายเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำป้ายไปติดตั้งเราควรแจ้งขนาดของป้าย รวมถึงภาพถ่ายหรือภาพ สเก็ตของป้าย พร้อมด้วยแผนผังที่ตั้งของบริเวณที่เราต้องการจะติดตั้งป้ายนั้น เพื่อนำมาขอคำอนุญาตติดตั้งกับทางสำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่เราอาศัยอยู่เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบก่อนว่าลักษณะป้ายของเรานั้น สร้างความเดือดร้อนที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือไม่ เช่น บริเวณที่คร่อมถนน บริเวณเสาไฟฟ้า ถนน ต้นไม้ และอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณสาธารณะ ซึ่งโดยปกติแล้วหากใช้บริการจากร้านทำป้ายส่วนมากนั้น ทางร้านจะดำเนินการขอใบอนุญาตให้กับเราได้ด้วย

            2. ยื่นเอกสารประกอบเพื่อยื่นชำระภาษี

            หลังจากได้รับอนุญาตติดป้ายก็ให้เตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการเสียภาษีป้ายต่อไปนี้ให้ครบถ้วน เพื่อเตรียมนำไปยื่นชำระภาษี

            บัตรประจำตัวประชาชน
            สำเนาทะเบียนบ้าน
            ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
            หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน
            ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
            ถ้าในกรณีที่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายไว้แล้ว ควรนำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายจากปีก่อนมาแสดงด้วย

            เมื่อได้เอกสารทั้งหมดพร้อมตามนี้แล้ว เจ้าของป้ายนั้นจะต้องไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป. 1) พร้อมด้วยหลักฐานทั้งหมด (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงป้ายต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายเพื่อทำการประเมินภาษีป้ายใหม่ทุกครั้ง) และดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษี พนักงานจะดำเนินการได้ 2 กรณี คือ

            กรณีแรกคือเมื่อเราพร้อมชำระภาษีป้ายได้ทันที เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการประเมินภาษีทั้งหมดให้กับเราแล้ว

            กรณีที่สองจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่พร้อมชำระภาษีเมื่อได้รับการประเมินภาษีป้ายทั้งหมดแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีหนังสือแจ้งการประเมินและแจ้งหนี้ทั้งหมดที่เราต้องชำระในภายหลัง ซึ่งเราจะมีเวลาเพียง 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับการประเมินในการชำระภาษีป้ายนี้

            ซึ่งการชำระหนี้นั้นถ้าป้ายเราเป็นป้ายที่เพิ่งยื่นภาษีเป็นปีแรก และได้รับการประเมินจากทางเจ้าหน้าที่ว่ามีภาษีป้ายเกิน 3,000 บาทขึ้นไป ก็สามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด งวดละ 3 เดือน ในอัตราเท่า ๆ กัน

            3. การชำระภาษีป้ายจะต้องชำระเป็นประจำทุกปี โดยชำระภายในเดือนมีนาคม


ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย

            ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายคือ เจ้าของป้าย แต่ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) สำหรับป้ายใด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย

            ถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือสถานที่ หรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับและให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินภาษีเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าว


ขั้นตอนการชำระภาษีป้าย

1. การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี

            การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ผู้เป็นเจ้าของป้ายหรือผู้ครอบครองป้ายจะต้องยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี กรณีที่ติดตั้งป้ายใหม่หรือเปลี่ยนแปลงข้อความของป้าย จะต้องยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ติดตั้งใหม่ หรือที่เปลี่ยนแปลงข้อความของป้ายใหม่


2. การชำระเงินค่าภาษี

            2.1 ผู้เป็นเจ้าของป้ายหรือผู้ครอบครองป้ายต้องชำระค่าภาษี ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
            2.2 กรณีที่เจ้าของป้ายยื่นแบบ (ภ.ป.1) แสดงรายการไว้ถูกต้องครบถ้วนและพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วถูกต้อง จะแจ้งการประเมินและชำระภาษีในวันที่ยื่นแบบฯ ได้

3. อัตราค่าภาษีป้าย
       
            ป้ายประเภทที่ 1 หมายถึง ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน ให้คิดอัตรา 3 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

            ป้ายประเภทที่ 2 หมายถึง ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ หรือปนกับภาพและเครื่องหมายอื่น ให้คิดอัตรา 20 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

            ป้ายประเภทที่ หมายถึง (ก) ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่ามีภาพหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ หรือ (ข) ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ ให้คิดอัตรา 40 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตรเมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้วถ้ามีอัตราต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียค่าภาษีป้ายละ 200 บาท

            ป้ายประเภทที่ 4 หมายถึง ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความ ภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายที่ได้เสียภาษีแล้ว อันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น ให้คิดอัตราตาม (1) (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี และให้เสียเฉพาะจำนวนเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น

            ป้ายทุกประเภทเมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท

4. การไม่ยื่นแบบและชำระภาษีภายในกำหนด

            ผู้เป็นเจ้าของป้ายรายใดไม่ยื่นแบบภายในกำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของค่าภาษี

            ผู้เป็นเจ้าของป้ายรายใดไม่ชำระเงินค่าภาษีภายในกำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 2 ของค่าภาษี

            ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานประกอบการค้า หรือประกอบกิจกา

การขอผ่อนผันชำระภาษี


            ถ้าภาษีป้ายที่ต้องชำระมีจำนวนตั้งแต่สามพันบาทขึ้นไป ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายจะขอผ่อนชำระเป็นสามงวดงวดละเท่า ๆ กันก็ได้ โดยแจ้งความจำนงเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษี และให้ชำระงวดที่หนึ่งก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษี งวดที่สองภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่หนึ่งและงวดที่สามภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง


การเสียเงินเพิ่ม


            การเสียเงินเพิ่ม คือ ไม่ได้ชำระภาษีป้ายตามกำหนดที่ควรเสีย ทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มด้วย โดยให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย เสียเงินเพิ่มนอกจากเงินที่ต้องเสียภาษีป้ายในกรณีและอัตราดังนี้

             (1) ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้น ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย

             (2) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติมเว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีป้ายให้ถูกต้องก่อนที่ พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน

             (3) ไม่ชำระภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้ายเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ทั้งนี้ไม่ให้นำเงินเพิ่มตาม (1) และ (2) มาคำนวณเป็นเงินเพิ่ม

การอุทธรณ์

            เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายได้รับแจ้งการประเมินแล้ว หากเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยยื่นอุทธรณ์ผ่านพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ฝ่ายรายได้สำนักงานเขตท้องที่ซึ่งยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ โดยต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันหรือไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมายมีอำนาจยกอุทธรณ์นั้นเสียได้
            เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จและแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์ หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการยกอุทธรณ์ดังได้กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามการอุทธรณ์นั้นไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีป้าย

            เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานครว่าให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาลเสียก่อน

การขอคืนเงินค่าภาษี


            ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลให้มีการลดจำนวนเงินที่ได้ประเมินไว้ให้แจ้งผู้มีหน้าที่เสียภาษีทราบโดยเร็วเพื่อมาขอรับเงินคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ใดเสียภาษีป้ายโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสียมีสิทธิได้รับเงินคืนโดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้ชำระเงินค่าภาษี

ข้อกฎหมายและบทลงโทษ

             1. หากผู้ประกอบการจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท

             2. ถ้าผู้ประกอบการจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

             3. ผู้ใดไม่แจ้งรับโอนป้าย หรือไม่แสดงรายการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานที่ประกอบกิจการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท ระยะเวลาการให้บริการโดยประมาณ 10 นาที ต่อรายไม่รวมขั้นตอนการตรวจสอบสวน (ถ้ามี)


ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th 

ประกาศบทความโดย ::www.prosofterp.com
 8279
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores