สิทธิและหน้าที่ของผู้เสียภาษี

สิทธิและหน้าที่ของผู้เสียภาษี



สิทธิและหน้าที่ของผู้เสียภาษี 
สำหรับผู้เสียภาษีทุกท่านการรู้สิทธิ์และหน้าที่ของตัวเองในเรื่องของภาษีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เราทราบถึงสิทธิ์ต่างๆ ด้านภาษีและหน้าที่ของเราที่ต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายด้านภาษี เพื่อดำเนินการได้อย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง+++

ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษีอากร

ภาษีอากรที่จัดเก็บแต่ละประเภทกำหนดสถานะผู้มีหน้าที่เสียภาษี และวิธีการเสียภาษีแตกต่างกันแล้วแต่กรณี ภาษีที่จัดเก็บจากรายได้นั้น ครอบคลุมผู้มีรายได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล และนิติบุคคลประเภทต่างๆ โดยมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้แตกต่างกันไป ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บจากผู้มีรายได้ที่เป็นบุคคลทั่วไป และหน่วยภาษีที่ได้กำหนดไว้เป็นพิเศษ สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จัดเก็บจากนิติบุคคลที่มีรายได้ เป็นต้น

ภาษีบางประเภทจัดเก็บจากการบริโภคสินค้าและบริการ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่จัดเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจการค้าซึ่งสามารถผลักภาระภาษีไปให้แก่ผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ผู้กระทำตราสารบางประเภทอาจอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีที่เรียกว่า อากรแสตมป์ อีกด้วย

กรมสรรพากรได้บริหารการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการบริหารข้อมูล ฉะนั้นในการเข้าสู่ระบบของกรมสรรพากรเพื่อเสียภาษีอากรทุกประเภท ผู้เสียภาษีจึงต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เพื่อใช้ติดต่อเสียภาษี นอกจากนี้หากเป็นการประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ ภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย

สิทธิของผู้เสียภาษี

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิตามกฎหมายโดยสรุปดังนี้

1 การผ่อนชำระภาษี

– ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามแบบ ภ.ง.ด. 90 ภ.ง.ด. 91 ที่มีจำนวนเกินกว่า 3,000 บาท สามารถแบ่งจ่ายงวดละเท่าๆกัน ไม่เกิน 3 งวด โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม

– ภาษีอากรที่ค้างชำระ โดยยื่นคำร้องขอผ่อนภายใต้หลักเกณฑ์การผ่อนชำระของกรมสรรพากร

2 การยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษี

กรณีที่ผู้เสียภาษีถูกประเมินภาษีอากร หากไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ผู้เสียภาษีมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือ (แบบ ภ.ส.6) ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน และหากได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วยังไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา ผู้เสียภาษีไม่มีสิทธิอุทธรณ์ใดๆ และต้องชำระภาษี พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามการประเมินให้ครบถ้วน

3 ขอทุเลาการชำระภาษีอากรโดยจัดให้มีหลักประกันการชำระหนี้ภาษีอากรค้าง

การใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการเสียภาษีอากร ผู้เสียภาษีที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินให้ชำระภาษี มีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมินนั้น ภายในกำหนดเวลาที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือแจ้งการประเมิน อย่างไรก็ตาม หากต้องการรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษา ผู้เสียภาษีมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาการชำระภาษี โดยจัดให้มีหลักประกันการชำระหนี้ภาษีอากรด้วยหลักทรัพย์ต่างๆ ภายใต้หลักเกณฑ์ตามระเบียบของกรมสรรพากร

4 ของดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีอากร

ผู้เสียภาษีที่มีหน้าที่ยื่นแบบฯ และชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย หากมิได้ยื่นแบบฯ หรือชำระภาษีภายในกำหนดเวลา ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายนอกเหนือจากเงินภาษีที่ต้องชำระอีกด้วย อย่างไรก็ดี หากการกระทำความผิดมีเหตุอันควรผ่อนผัน ผู้เสียภาษีอาจมีคำร้องเป็นหนังสือของดหรือลดเบี้ยปรับและอาจได้รับการพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ สำหรับเงินเพิ่มไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าพนักงานฯงดหรือลดให้ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาชำระหรือนำส่งภาษี และได้มีการชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายแล้ว เงินเพิ่มจะลดลงมาเหลือเพียงกึ่งหนึ่ง

5 ขอคัดเอกสารหรือขอสำเนาเอกสาร

ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอคัดเอกสารหรือขอสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษีของตนเองได้ เช่น ขอคัดสำเนาแบบแสดงรายการภาษีของตนเอง หรือใบเสร็จรับเงินค่าภาษีแต่ละประเภทที่เป็นของตนเอง เป็นต้น

หน้าที่ตามกฎหมายของผู้มีหน้าที่เสียภาษี

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่ตามกฎหมายโดยสรุปดังนี้

1 ยื่นแบบฯ และเสียภาษีอากรที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและครบถ้วน

2 ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และจดทะเบียนภาษีตามที่กฎหมายกำหนดแล้วแต่กรณี และหากมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ จะต้องแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง

3 จัดทำเอกสารหลักฐาน และบัญชีใดๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ใบรับ ใบส่งของ ใบกำกับภาษี บัญชีรายได้ รายจ่าย งบการเงิน บัญชีพิเศษ ฯลฯ แล้วแต่กรณี

4 ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน เมื่อได้รับหนังสือเชิญพบ หรือหนังสือขอให้ยื่นเอกสาร หรือหลักฐานใดๆ เพื่อประกอบในการเสียภาษีอากร ตลอดจนปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงาน

5 ชำระภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ภายในกำหนดเวลา หากมิได้ชำระภาษีหรือชำระไว้ไม่ครบถ้วน เจ้าพนักงานมีสิทธิยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร เพื่อนำไปชำระหนี้ภาษีได้โดยไม่ต้องฟ้องศาล

6 การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากร นอกจากต้องรับผิดทางแพ่งแล้ว ยังต้องรับผิดทางอาญาอีกด้วย

สิทธิในการอุทธรณ์ภาษีอากร

การอุทธรณ์ภาษีอากร เป็นกระบวนการยุติธรรมอย่างหนึ่งที่กฎหมายประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ถูกประเมินภาษีสามารถใช้สิทธิคัดค้านการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมิน ที่ผู้ถูกประเมินภาษีเห็นว่าไม่ถูกต้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้

การคัดค้านการประเมินภาษีอากรสามารถทำได้โดยผู้ถูกประเมินภาษีจะต้องยื่นคำอุทธรณ์เป็นหนังสือด้วยแบบคำอุทธรณ์ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งสามารถยื่นคำอุทธรณ์เป็นรายฉบับตามหนังสือแจ้งการประเมินหรือรวมยื่นคำอุทธรณ์ฉบับเดียวสำหรับหนังสือแจ้งการประเมินหลายฉบับก็ได้ โดยระบุให้ชัดแจ้งว่าอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีประเภทใด เดือนและปีภาษีใด ตามหนังสือแจ้งการประเมินฉบับใด และเป็นจำนวนเงินภาษีเท่าใด และสิ่งสำคัญที่ต้องระบุคือไม่เห็นด้วยกับการประเมินในประเด็นใด พร้อมทั้งให้เหตุผลทุกประเด็น และแสดงเอกสารหลักฐานประกอบเหตุผลนั้นด้วย

อบคุณบทความจาก :: www.rd.go.th
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 855
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores