ฎีกาภาษี การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักณ ที่จ่าย

ฎีกาภาษี การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักณ ที่จ่าย


>> ฎีกาภาษี  การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักณ ที่จ่าย
 

ประเด็น - ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบก่อนหรือไม่

           - และต้องประเมินภายในระยะเวลาเท่าใด

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 5857/2549 (บริษัท อ. โจทก์  กรมสรรพากรกับพวก จำเลย) 

ข้อเท็จจริง

เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายตรวจภาษีโจทก์เกิน 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นรายการนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย หลังจากตรวจสอบแล้ว เจ้าพนักงานประเมิน พบว่าโจทก์หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายและนำส่งไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับปีภาษี 2539 จำนวน 569,093.76 บาท และเงินเพิ่ม 529,257.19 บาท รวมเป็นเงิน ทั้งสิ้น 1,098,350.95 บาท

   • โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มี คำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

   • โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง โดยฟ้องกรมสรรพากรและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำเลย

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง 

   • โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดี ภาษีอากรว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินออกหมายตรวจสอบภาษีเกินกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นรายการนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร และมิได้ประเมินภายในกำหนดเวลา 2 ปี

ปัญหาข้อกฎหมาย

     การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่ายต้องออกหมายเรียกตรวจสอบก่อนหรือไม่? และต้องประเมินภายในกำหนดเวลาเท่าใด?

คำวินิจฉัยศาลฎีกา

     ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "โจทก์มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย เมื่อหักแล้วต้องนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จ่ายเงินตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร และในการตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น เจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ยื่นบัญชีจ่ายเงินได้หรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่อง เพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควร และเมื่อได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าวให้ปฎิบัติตามภายใน 15 วัน ตามมาตรา 51 แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นกรณีที่ไม่จำต้องออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร และสิทธิเรียกร้องของรัฐเพื่อเรียกเอาค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการตรวจสอบพบว่า โจทก์นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายไม่ครบถ้วนและแจ้งให้โจทก์นำส่งให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน"

ข้อคิดเห็น

     1. กรณีผู้เสียภาษียื่นรายการไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ กำหนดเวลา 2 ปีนี้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจขยายเป็นไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ (ประมวลรัษฎากร มาตรา 19) การออกหมายเรียกและกำหนดเวลาการออกหมายเรียกนี้ใช้เฉพาะกรณีผู้เสียภาษียื่นรายการประเมินตนเองเท่านั้น ไม่ใช่กับกรณีผู้จ่ายเงินได้มิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งหรือหักและนำส่งแต่ไม่ถูกต้องครบถ้วน เพราะกรณีภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 51 ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินส่งหนังสือแจ้งให้ผู้จ่ายเงินได้ยื่นบัญชีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) (2) (3) (4) และ (7) หรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องเพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควร และผู้ได้รับหนังสือต้องปฎิบัติตามภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ฉะนั้น การประเมินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจึงไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนก่อนตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร

     2. การประเมินภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องประเมินภายในกำหนดเวลาเท่าใด เมื่อสิทธิเรียกร้องของรัฐเพื่อเอาค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีหัก ณ ที่จ่ายภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ผู้จ่ายเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายหากเป็นกรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งแต่ไม่ถูกต้องครบถ้วน แต่ถ้าเป็นกรณีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง ก็มีอำนาจประเมินภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันครบกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง

อบคุณบทความจาก :: สรรพากรสาส์น
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 901
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores