• Home

  • Blog

  • กฎหมาย/ภาษี

  • การเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

การเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

  • Home

  • Blog

  • กฎหมาย/ภาษี

  • การเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

การเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร


คำสั่งกรมสรรพากร 
ที่ ป. 119/2545 เรื่อง  การเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.108/2544 เรื่อง การเครดิตภาษีเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2544

ข้อ 2 กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย บุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้จะได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยนำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสีย หารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อย ลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์ เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

         กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 3 กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากผู้ได้รับเงินปันผลเลือกเสียภาษีในอัตรา ร้อยละ 10.0 ของเงินได้ ก็ไม่ต้องนำเงินปันผลไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 4 กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเงินได้ของกองทุนรวมดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(24) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ ก็ไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 5 กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร จากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่น รายการ ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรไม่ขอรับเงินภาษีที่ ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536

ข้อ 6 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

ข้อ 7 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและบริษัทจดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 263) พ.ศ. 2536

ข้อ 8 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ได้รับเงินปันผลจากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงิน ที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม หรือได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งของกำไรได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวจำนวนกึ่งหนึ่งมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

         กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ได้รับเงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวจำนวนกึ่งนึ่งมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

         กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้า ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวทั้งจำนวนมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 5 ทวิ (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

ข้อ 9 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้ได้รับเงินปันผลจากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือ อุตสาหกรรม หรือได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งของกำไรได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลและเงินส่วนแบ่ง ของกำไรดังกล่าวทั้งจำนวนมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตาม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

(1)  บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลและบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

(2)  บริษัทจดทะเบียน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

       กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ได้รับเงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตาม กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวทั้งจำนวนมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

       กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้า ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวทั้งจำนวนมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 10 กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจ่ายจากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อ 6 ผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

           กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจ่ายจากเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตามข้อ 7ผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 11 กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และเป็นเงินปันผลที่เข้าลักษณะตามข้อ 8 และข้อ 9 ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 12 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจ่ายเงินปันผลซึ่งเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรเฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นตามข้อ 10 ผู้จ่ายเงินปันผลจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายว่า ไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

         กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจ่ายเงินปันผลซึ่งเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรทั้งในส่วนที่เกิดขึ้นตามข้อ 10 และกำไรจากการประกอบกิจการตามข้อ 11 ผู้จ่ายเงินปันผลจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่า เงินที่ได้จ่ายนั้นจำนวนใดได้รับเครดิตภาษี และจำนวนใดไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 13 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา เมื่อจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และผู้จ่ายเงินได้ทราบโดยชัดแจ้งว่าจ่ายจากเงินกำไรหลังจากเสียภาษีในอัตราใด ผู้จ่ายเงินได้จะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินปันผลหรือ เงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด

            กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง จ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และผู้จ่ายเงินได้ไม่สามารถทราบโดยชัดแจ้งว่าจ่ายจากเงินกำไรหลังจากเสียภาษีในอัตราใด ผู้จ่ายเงินได้ต้องเฉลี่ยเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรตามส่วนของกำไรหลังจากเสียภาษีในแต่ละอัตราภาษี และจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด

ข้อ 14 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลแสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12 และข้อ 13 ถูกต้อง และผู้มีเงินได้มิได้นำไปใช้เครดิตภาษี หรือนำไปใช้เครดิตภาษีถูกต้องตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 15 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลแสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12 และข้อ 13 ถูกต้อง และผู้มีเงินได้นำไปใช้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่ใช้เครดิตภาษีไม่ถูกต้อง โดยเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ อันเป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้ได้ รับเงินภาษีคืนเกินไปหรือชำระภาษีไว้ไม่ครบถ้วน ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับผู้มีเงินได้ต้องรับผิดตามจำนวนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกินไปหรือเงินภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบถ้วน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเรียกคืนเงินจำนวนดังกล่าวหรือประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากผู้มีเงินได้ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 16 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลแสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12 และข้อ 13 ไม่ถูกต้อง และผู้มีเงินได้มิได้นำไปใช้เครดิตภาษี ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้และ ผู้มีเงินได้ ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 17 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลแสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12 และข้อ 13 ไม่ถูกต้อง และผู้มีเงินได้นำไปใช้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้จะได้รับเงินภาษีคืนเกินไป หากผู้มีเงินได้ยังไม่ได้รับเงินภาษีคืน หรือได้รับเงินภาษีคืนแต่ยังไม่เกินกว่าจำนวนที่พึงได้รับ ผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 18 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินปันผลแสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12 และข้อ 13 ไม่ถูกต้อง และผู้มีเงินได้นำไปใช้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ อันเป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้ได้รับเงินภาษีคืนเกินไปหรือชำระภาษีไว้ไม่ครบถ้วน ผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ตามจำนวนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกิน ไปหรือเงินภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเรียกคืนเงินจำนวนดังกล่าวหรือประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจาก ผู้จ่ายเงินได้ก่อน แต่ถ้าเรียกคืนเงินภาษีหรือเรียกเก็บภาษีจากผู้จ่ายเงินได้ไม่ได้หรือไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจเรียกคืนเงินภาษีหรือเรียกเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร

          กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเงินปันผลจากผู้จ่ายเงินได้หลายราย และผู้จ่ายเงินได้บางรายแสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12 และข้อ 13 ไม่ถูกต้อง หากผู้มีเงินได้นำไปใช้เครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ อันเป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้ได้รับเงินภาษีคืนเกินไปหรือชำระภาษีไว้ไม่ครบถ้วน ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งแสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ถูกต้อง ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ตามจำนวนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกินไปหรือเงินภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 47 ทวิ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 19 กรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นเงินปันผลที่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 11 ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นก็ได้ ในกรณีเลือกนำไปรวมคำนวณกับ เงินได้อื่น ผู้มีเงินได้จะได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และในกรณีที่ได้รับเงินปันผลที่ได้รับเครดิตภาษีจากผู้จ่ายหลายราย ผู้มีเงินได้จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวที่ได้รับในปีภาษีทุกรายมารวมคำนวณภาษี ไม่สามารถเลือกเฉพาะบางรายนำมารวมคำนวณภาษีเพื่อได้รับเครดิตภาษี

ข้อ 20 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยใด ที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก

สั่ง ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545  (นายวิชัย จึงรักเกียรติ) รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสรรพากร

อบคุณบทความจาก :: กรมสรรพากร
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 931
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores