Big Data คือ อะไร
Big Data คือ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Volume) ที่มีและมาจากหลากหลายแหล่งและรูปแบบ เช่น ข้อมูลเป็นข้อความ ภาพ เสียง วีดีโอ หรืออื่นๆ (Variety) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องใช้ความรวดเร็วในการประมวลผล ลองนึกถึงในแต่ละวินาที ข้อมูลเฉพาะใน Social Media ต่างๆเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน (Velocity) และมีความไม่ชัดเจน เพราะยังเป็นข้อมูลดิบจำนวนมากมายอยู่ การจะนำข้อมูล Big Data มาใช้ประโยชน์ได้ จึงต้องนำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ (Big Data Analytics)
อะไรที่ทำให้ Big Data มีความสำคัญขึ้นมา?
ความจริงแต่เดิม ข้อมูลต่างๆก็มีอยู่แล้วบนโลกใบนี้ แต่สิ่งที่มีผลให้เราใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็คือ
Growth in Computing Power
วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ที่นับวันจะมีทั้งความเร็วในการประมวลผลและความสามารถในการจัดเก็บบน Cloud Base
New Sources of Data
แหล่งของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ ข้อความ ภาพ เสียง วีดีโอ หรืออื่นๆที่ค้นหาได้จากหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Social Media, Search Engine, Mobile Data รวมทั้งทุกอย่างที่ถูกเชื่อมโยงผ่าน IOT (Internet of Things) ด้วย Computer Chips and Sensors
Infrastructure for Knowledge Creation
โครงสร้างพื้นฐานของยุคดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการค้นหาและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และทำนายอนาคต
กล่าวกันว่ายุคนี้ใครมี Data อยู่ในมือและรู้จักนำไปใช้ประโยขน์ ผู้นั้นจะเป็นผู้ได้เปรียบผู้อื่น ดังนั้น ถ้าเรานึกภาพถึงบ่อทอง ที่เขาไปร่อนทองกัน ถ้าคนไม่รู้จักว่าดินก้อนไหนคือ สายแร่ทอง ก็จะมองผ่านไปเหมือนเห็นก้อนดินธรรมดาๆไม่มีคุณค่าอะไร แต่คนที่มีสายตาแหลมและมองออกว่านี่มันคือ สายแร่ทองชัดๆ ก็จะเหลียวกลับมาคิดวางแผนว่าจะร่อนจากก้อนดินให้กลายเป็นทองคำได้อย่างไร เรื่องของ Big Data ก็เช่นกัน เป็นที่กล่าวกันว่าเหมือนขุมทองแหล่งใหม่ของนักบัญชีที่จะมาแทนที่ ขุมทองหรืองานในรูปแบบเดิมที่เรากำลังทะยอยถูกเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI, OCR, RPA แย่งไปครอบครอง และขุมทองนี้ยังใหม่มากเป็น โอกาสของคนที่มองเห็น และฉกฉวยเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ นักบัญชีที่รู้จักปรับตัวและศึกษาเกี่ยวกับ Big Data ในเชิงลึก จนเห็นโอกาสที่จะนำข้อมูลเหล่านั้น มาพยากรณ์อนาคตของภาคธุรกิจ จะกลายเป็นผู้ได้เปรียบคู่แข่งไปหลายขุมเลยทีเดียว เพราะข้อมูลขนาดใหญ่ของ Big Data สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการวิเคราะห์แนวโน้มของธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภค ได้แม่นยำกว่าข้อมูลแบบเดิมที่มีอยู่ในวงแคบๆ
Big Data ถูกนำไปใช้ในเกือบทุกอุตสาหกรรม สำหรับในวงการบัญชี ในระยะแรกได้มีการนำBig Data มาช่วยในงานสอบบัญชี เพื่อทดแทน Audit Sampling ที่เคยใช้ในการสุ่มตรวจ เพื่อหาประเด็นที่ผิดปกติ เพราะการวิเคราะห์จาก Big Data จะตรวจจับได้ในมุมมองที่กว้างขวางกว่าเดิม ช่วยให้นักบัญชีสามารถไปวิเคราะห์เจาะลึกในประเด็นที่พบเจอ
ข้อมูลจาก Big Data ยังช่วยให้นักบัญชี นำผลการดำเนินงานของลูกค้า ไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลแม่นยำกว่าการวิเคราะห์อัตราส่วนหรือการประมาณการที่เคยใช้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการขยายการบริการในรูปแบบใหม่ เช่นช่วยวิเคราะห์และให้คำปรึกษา แก่ลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมแบบ Niche Marketing
ถ้ายังนึกไม่ออก ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เคยได้ไปดูงานในประเทศอังกฤษเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เป็นสำนักงานบัญชีที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ที่รับทำเฉพาะกิจการปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีร้านสะดวกซื้ออยู่ด้วย โดยสำนักงานบัญชีนี้จะจ้างนักบัญชีแบบฟรีแลนซ์ คือนักบัญชีที่เป็นแม่บ้านแล้วเอาเวลาช่วงที่ว่างจากภารกิจงานบ้าน มารับงานบันทึกบัญชีของปั๊มน้ำมันใกล้บ้านที่เป็นลูกค้าของสำนักบัญชีนี้ จะรับกี่ปั๊มก็สุดแล้วแต่ความสะดวก แต่ในยุคนั้นยังไม่มีระบบ Cloud จึงต้องเข้าไปบันทึกบนโปรแกรมบัญชีที่สำนักงานบัญชีติดตั้งไว้ที่ปั๊มลูกค้า พอสิ้นเดือน สำนักงานบัญชีนี้ ก็จะมีรายงานกำไรขาดทุนและงบดุลที่ไม่ใช่รายงานแบบปกติ แต่เป็นรายงานที่วิเคราะห์เจาะลึกถึงอัตราส่วนต่างๆเฉพาะอุตสาหกรรมปั๊มน้ำมัน และนำไปเปรียบเทียบ กับ Ratio ของปั๊มน้ำมัน ในระดับเขต หรือระดับประเทศ และนำตัวเลขเหล่านี้มาให้คำปรึกษาและแนะนำลูกค้าในการพัฒนาธุรกิจ การวิเคราะห์เจาะลึกรายอุตสาหกรรมแบบนี้ให้ลูกค้าจึงเป็นจุดขายของสำนักงานบัญชีนี้ ทำให้เขามีลูกค้าปั๊มน้ำมันอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ จนสามารถนำข้อมูลมาทำดัชนีอุตสาหกรรม ให้ลูกค้านำไปใช้ได้แต่ลองคิดดูถ้าเป็นยุคนี้ที่สามารถนำ Big Data มาวิเคราะห์หาดัชนีอุตสาหกรรม จากตัวเลขจริงได้กว้างขวางกว่าเดิม นอกเหนือจากข้อมูลเฉพาะในวงของลูกค้าแบบเดิม ผลที่ได้จะมีประโยชน์ในการนำไปใช้ในการตัดสินใจได้มากขึ้นกว่าเดิมมากมาย
กระบวนการของ Big Dataต้องการบุคคลากรจาก 3 ฝ่าย
01 Data Engineer
02 Data Scientist
03 Data Analyst
ฟังดูดีแต่กระบวนการร่อนให้ได้ก้อนทองจากสายแร่ทองคำ ไม่ได้ได้มาโดยง่ายฉันใดการนำเอาข้อมูล Big Data มาใช้ประโยชน์ก็ไม่ใช่จะได้มาโดยง่ายๆ เช่นกันเนื่องจากกระบวนการของ Big Data ต้องการบุคลากรจาก 3 ฝ่าย 1. Data Engineer 2. Data Scientist และ 3. Data Analyst ดังนั้นเราอาจจะต้องมีการลงทุน หาบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านนี้มาเสริมทัพนักบัญชีที่มีอยู่อาจจะสามารถอยู่ในกระบวนการนี้ ด้วยการเป็น Data Analyst โดยการใช้ Big Data Analytics ในเชิงบัญชีบริหาร ซึ่งอาจจะต้องมีการอบรมหาความรู้เพิ่มเติมทั้งแบบ Re-Skill และ Up-Skill
สำนักงานบัญชีหรือนักบัญชีภายในไม่เพียงแต่จะสามารถช่วยวิเคราะห์ในเชิงลึกแต่ยังสามารถรวบรวมข้อมูลในวงกว้างจากอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อนำมาเป็น Benchmark ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ได้อีกด้วย โดยสามารถเลือกอุตสาหกรรมที่ถนัดมาเป็นจุดขายเช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น
Big Data นี้ นอกจากจะเป็นขุมทองของนักบัญชีดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังเป็นขุมทองของสรรพากรในประเทศต่างๆ ที่เริ่มนำมาใช้ในการจัดเก็บภาษี เพราะเขาสามารถเชื่อมโยงข้อมูลภายนอกจากแหล่งต่างๆของบุคคลหรือนิติบุคคลที่เขาสนใจจะตรวจสอบเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้ยื่นไว้ในแบบฟอร์มการชำระภาษี เพื่อจะดูว่าสมเหตุสมผลเพียงใด ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้ จะสามารถจุดประกายให้นักบัญชีนำไปต่อยอด วางแผนมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากขุมทองแหล่งใหม่ได้ไม่มากก็น้อย
ขอบคุณบทความจาก :: สภาวิชาชีพบัญชี
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com