• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/2378 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการให้เช่าที่ดินที่มีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดิน

เลขที่หนังสือ กค 0702/2378 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการให้เช่าที่ดินที่มีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดิน

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/2378 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการให้เช่าที่ดินที่มีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดิน

เลขที่หนังสือ กค 0702/2378 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการให้เช่าที่ดินที่มีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดิน

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2378
วันที่ : 2 พฤษภาคม 2566
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการให้เช่าที่ดินที่มีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดิน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ   ห้างหุ้นส่วนสามัญ ก. (ห้าง ก) มีหุ้นส่วนของห้าง จำนวน 3 คน ได้แก่ A B และ C โดยหุ้นส่วนทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งห้าง ก. ได้ทำสัญญาให้เช่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนให้แก่บริษัท ข. มีกำหนดเวลาการเช่า 25 ปีนับแต่วันจดทะเบียนสิทธิการเช่า ซึ่งบริษัท ข. ตกลงจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า (แป๊ะเจี๊ยะ) และค่าเช่ารายปี ให้แก่ห้าง ก. โดยในปีภาษีแรกได้จ่ายค่าเช่าล่วงหน้า และค่าเช่ารายปี และได้มีการระบุตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของ A B และ C ต่อมาห้าง ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 โดยนำรายได้ค่าเช่ารับล่วงหน้ามาเฉลี่ยตามจำนวนปีของอายุการเช่า 25 ปี และได้ชำระภาษีเงินได้จากค่าเช่ารับล่วงหน้าจนถึงปี 2582
  ในปีต่อมา A ประสงค์ที่จะแบ่งส่วนที่ดินของตนเองไปให้กับ B และ C และได้ทำการโอนเฉพาะส่วน และทำการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม (แยกโฉนด) ระหว่าง B และ C โดย C เป็นผู้ครองโฉนดฉบับ ออกใหม่ คงการเช่าครอบติดตามสัญญาแบ่งเช่าซึ่งให้บริษัท ข. เช่าอยู่ อีกทั้ง A และ B ประสงค์ที่จะโอนสิทธิและเงินได้จากเงินค่าเช่าให้เป็นไปตามการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงได้ทำหนังสือยินยอมมอบสิทธิการรับค่าเช่าแจ้งต่อบริษัท ข. เพื่อมอบสิทธิการรับเงินค่าเช่าให้กับ C แต่เพียงผู้เดียวให้มีผลตั้งแต่รอบค่าเช่าถัดไป ดังนั้น C จะมีสิทธินำภาษีที่ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 ของห้างฯ มาเครดิตภาษีในแบบแสดงรายการในนามของตนเองหรือไม่
แนววินิจฉัย : กรณีห้าง ก ทำสัญญาให้เช่าที่ดินบางส่วนแก่บริษัท ข มีกำหนดเวลาการเช่า 25 ปี นับแต่วันจดทะเบียนสิทธิการเช่า และได้รับเงินค่าเช่าล่วงหน้า ห้าง ก ต้องนำเงินค่าเช่ารับล่วงหน้าที่ได้รับมาเฉลี่ยตามอายุสัญญาเช่าและชำระภาษีเงินได้จากเงินกินเปล่าที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามอายุของสัญญาเช่าเป็นการล่วงหน้าให้เสร็จสิ้นตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ในนามของห้าง ก
  กรณี A ได้ยกที่ดินของตนให้แก่ B และ C และได้แยกโฉนดโดย C เป็นผู้ครอบครองโฉนดฉบับออกใหม่ซึ่งคงการเช่าครอบติดตามสัญญาเช่าฉบับเดิม ไม่ทำให้สัญญาเช่าที่ดินฉบับเดิมระหว่างห้าง ก. กับบริษัท ข. ระงับสิ้นไป ตามมาตรา 569 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ สัญญายังคงมีผลใช้บังคับเช่นเดิม C ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เช่าจึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งมีต่อผู้เช่าด้วย เมื่อ C เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งคงการเช่าครอบติดตามเช่าฉบับเดิมแต่เพียงผู้เดียว ห้างฯ จึงสิ้นสภาพลงและค่าเช่าที่ได้รับภายหลังจากการโอนที่ดิน จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินของ C ซึ่ง C ต้องนำค่าเช่าที่ได้รับภายหลังจากการโอนที่ดินไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามตนเอง โดยให้นำภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 ที่ได้ชำระภาษีไว้ล่วงหน้าแล้วในนามห้าง ก สำหรับแต่ละปีภาษีนั้นมาเครดิตออกจากภาษีเงินได้ที่ต้องชำระในแต่ละปีได้โดยอนุโลมจนกว่าจะครบระยะเวลาการเช่า ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร


ขอบคุณบทความจาก ::กรมสรรพากร
 250
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores