ปัจจุบันสภาวิชาชีพบัญชีได้เผยแพร่และบังคับใช้มาตรฐานการสอบบัญชีทั้งสิ้น 47 ฉบับ ซึ่งแปลมาจากมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศของ International Federation of Accountants (IFAC) อันประกอบไปด้วย มาตรฐานการสอบบัญชี จำนวน 37 ฉบับ มาตรฐานงานสอบทาน จำนวน 2 ฉบับ มาตรฐานงานที่ให้ความเชื่อมั่น จำนวน 4 ฉบับ มาตรฐานงานบริการเกี่ยวเนื่อง จำนวน 2 ฉบับแม่บทสำหรับงานที่ให้ความเชื่อมั่น จำนวน 1 ฉบับ และคำอธิบายวิธีปฏิบัติงานตรวจสอบ จำนวน 1 ฉบับ
โดยสภาวิชาชีพบัญชีได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน ในเรื่องของการเป็นองค์กรชั้นนำในภูมิภาค เพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีให้เป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณเพื่อให้บริการ และพร้อมรับการแข่งขันในระดับสากล จึงได้มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์โดยรวมของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งรวมถึงการออกมาตรฐานการสอบบัญชี โดยสภาวิชาชีพบัญชีมีความประสงค์ที่ต้องการให้การออกมาตรฐานมีประสิทธิภาพและโปร่งใส จึงกำหนดขั้นตอนการจัดทำมาตรฐานการสอบบัญชี (Due Process) 6 ขั้นตอน เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทุกภาคส่วนทราบ ดังนี้
1. การศึกษา วิจัย และติดตามมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ
IAASB เผยแพร่ Discussion Paper หรือ Exposure Draft บนเว็บไซต์ และเปิดรับฟังความคิดเห็น 120 วันนับจากวันที่เผยแพร่ข้อมูล คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการสอบบัญชี (คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานฯ) ได้รับข้อมูล Exposure Draft นำมาศึกษาและพิจารณาเนื้อหาของมาตรฐานการสอบบัญชีที่มีการปรับปรุงหรือออกใหม่เกี่ยวกับผลกระทบ และเผยแพร่เนื้อหาและผลการศึกษาผ่านบทความหรือการสัมมนา ภายในกำหนดระยะเวลาของ IFAC และเผยแพร่ Comment Letter ทุกฉบับที่มีการตอบไปยัง IAASB ภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ส่ง
2. วางแผนงานในการจัดทำมาตรฐานการสอบบัญชี
คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานฯ วางแผนงานในการจัดทำมาตรฐานการสอบบัญชีเป็นภาษาไทย โดยพิจารณาจากมาตรฐานการสอบบัญชีฉบับสมบูรณ์ตามแผนงานของ IAASB
3. การจัดทำร่างมาตรฐานการสอบบัญชี
คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานฯ ยกร่างมาตรฐานการสอบบัญชีเป็นภาษาไทย จากมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศและนำผลของการศึกษาผลกระทบมาพิจารณาต่อไป
คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานฯ นำเสนอร่างมาตรฐานการสอบบัญชีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการสอบบัญชีก่อนนำร่างมาตรฐานการสอบบัญชีเผยแพร่ในเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี
4. การรับฟังความคิดเห็น และการจัดสัมมนาทำความเข้าใจหรือสัมมนาพิจารณ์ร่างมาตรฐานการสอบบัญชี
เผยแพร่ร่างมาตรฐานการสอบบัญชีฉบับภาษาไทยผ่านเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี และ/หรือจัดสัมมนาทำความเข้าใจหรือสัมมนาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและผลกระทบจากการนำมาตรฐานการสอบบัญชีไปปฏิบัติ
5. การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างมาตรฐานการสอบบัญชี
นำเสนอร่างมาตรฐานการสอบบัญชีต่อ
หลังจากผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 คณะ จึงจัดทำเป็นประกาศสภาวิชาชีพบัญชีและเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์
6. กระบวนการหลังจากที่มาตรฐานการสอบบัญชีได้รับการเผยแพร่
คณะอนุกรรมการ/คณะทำงานฯ และคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการสอบบัญชีจะเผยแพร่บทความที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์หรือจดหมายข่าว และ/หรือจัดหลักสูตรอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสอบบัญชีอย่างต่อเนื่อง