ตามที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 กำหนดให้ “กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ” เป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามนัยมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
การแก้ไขเพิ่มเติมในบทนิยามศัพท์คำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ดังกล่าวเป็นผลให้ “กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคล” ทั้งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 66 หรือมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
กองทุนรวมซึ่งถูกกำหนดให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ต้องนำรายได้ดอกเบี้ยตามมาตรา 40 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นจากเงินที่ฝาก หรือตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ถือตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป เท่านั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ตามมาตรา 65 ทวิ (15) แห่งประมวลรัษฎากร และ สำหรับเงินได้ดอกเบี้ยเฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นจากเงินที่ฝาก หรือตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ถืออยู่ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562
ทั้งนี้ โดยให้กองทุนรวมซึ่งถูกกำหนดให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 67 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกองทุนรวม ให้ผู้จัดการกองทุนรวมมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการตามแบบทีอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยกองทุนรวมมีหน้าที่ จัดทำบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย ตามมาตรา 68 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่มีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว และแนบบัญชีดังกล่าวไปพร้อมกับแบบแสดงรายการที่ยื่น ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร
ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวม และเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวม นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวม ถือเป็นเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จาก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม (1) และ (2) ในมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้
กรณีผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้รับเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่กองทุนรวม นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ช)แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้มีเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามมาตรา 48 (3)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
(1) สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยให้นำเงินปันผล ที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (รวมทั้งเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ดัวย) มารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ |
(2) สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (รวมทั้งเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตามมาตรา 39แห่งประมวลรัษฎากรดัวย) หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้ (ก) บริษัทจดทะเบียน |
(3) การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากกองทุนรวมถูกกำหนดให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนส่วนนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา เงินส่วนแบ่งของกำไรของกองทุนรวมเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร (ก) กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กองทุนรวมในฐานะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไร (ข) กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล กองทุนรวมจึงมีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 319/2563 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไร |