• Home

  • Blog

  • การเงินการบัญชี

  • มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(TFRS for NPAEs) ซึ่งบริษัทได้รับงานตรวจสอบจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(TFRS for NPAEs) ซึ่งบริษัทได้รับงานตรวจสอบจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

  • Home

  • Blog

  • การเงินการบัญชี

  • มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(TFRS for NPAEs) ซึ่งบริษัทได้รับงานตรวจสอบจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(TFRS for NPAEs) ซึ่งบริษัทได้รับงานตรวจสอบจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร



มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(TFRS for NPAEs)  Click

บริษัทได้รับงานตรวจสอบจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งพบประเด็นปัญหาดังนี้

  1. นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จัดตั้งตั้งแต่ปี 2552
  • ไม่เคยส่งงบการเงินกับกรมที่ดินตาม พรบ. (พระราชบัญญัติ การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543) แต่ต้องการส่งงบการเงินให้กับกรมที่ดิน จึงให้ส่งงบการเงินเฉพาะ ของปี 2558 ซึ่งกรมที่ดินไม่ติดใจและให้ส่งงบการเงินย้อนหลัง รวมทั้งไม่มีประเด็นความผิดในเรื่องดังกล่าว
  • จากประเด็นดังกล่าว ทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับยอดยกมา แต่ทางนิติบุคคลได้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และงบการเงินการเงินสำหรับประชุมประจำปีเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว

     ดังนั้น ยอดยกมาได้มีการยกยอดจากงบการเงินที่ผ่านการประชุมจากลูกบ้านทุกปีเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่ผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยผู้สอบบัญชี ในการตรวจสอบยอดยกมาสามารถตรวจทานได้ แต่ระดับความเชื่อมั่นมีเพียง 50% เท่านั้น ในกรณีนี้ทางปฏิบัติสามารถส่งงบการเงินเฉพาะปี 2558 เท่านั้นได้ใช่หรือไม่

  1. จากการตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์ส่วนกลางที่รับโอนจากโครงการมายังนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามที่ พรบ. ได้กำหนดไว้ แต่ทางนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรต้องการแสดงทรัพย์ส่วนกลางในหมายเหตุประกอบงบการเงิน แต่ไม่ต้องการแสดงทรัพย์ส่วนกลาง ไว้ในงบแสดงฐานะการเงิน ซึ่งทางนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้เหตุผลการแสดงดังกล่าวว่ามาจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ที่มิใช่เป็นการดำเนินการโดยบริษัท เช่น นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรที่จัดตั้งขึ้นเอง ภายในหมู่บ้าน จะไม่มีการแสดงทรัพย์ส่วนกลางเป็นสินทรัพย์ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เนื่องจากยุ่งยากในการทำการประเมินราคาทรัพย์ส่วนกลางทุกปี และจากการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พบว่ามีบางนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้เปิดเผยทรัพย์ส่วนกลางไว้ในหมายเหตุ แต่ไม่บันทึกในงบแสดงฐานะการเงิน แต่ในทางกฎหมายได้มีการโอนกรรมสิทธิ์เป็นของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว รวมถึงไม่มีการใส่ราคาของทรัพย์ส่วนกลางบางชนิด เช่น ป้อมยาม ในกรณีนี้ต้องแสดงทรัพย์ส่วนกลางในงบแสดงฐานะการเงินหรือไม่ การเปิดเผยอย่างเดียวเป็นการเพียงพอหรือไม่

  2. การให้บริการสาธารณประโยชน์ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ต้องจัดทำบัญชีตาม PAEs หรือ NPAEs ในกรณีหมู่บ้านจัดสรร ถือเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะได้หรือไม่ เพราะไม่มีมีผลกระทบต่อบุคคลอื่นเป็นวงกว้าง และให้บริการเฉพาะสมาชิกภายในหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนในแง่ของกิจการอื่นตามกฎหมายเฉพาะ ในหลักเกณฑ์ของ PAEs อ่านไม่พบหลักเกณฑ์ใน พรบ.ในกรณีนี้สามารถจัดทำบัญชีตามมาตรฐาน NPAEs ได้หรือไม่ หากสามารถทำได้การประเมินราคาทรัพย์ส่วนกลางใหม่...เป็นวิธีการบันทึกบัญชีที่ถูกต้องหรือไม่จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น ควรต้องปฏิบัติเช่นใด

ขอเรียนตอบคำถามดังนี้

          1. ถึงแม้ว่าผู้สอบบัญชีจะให้ความเชื่อมั่นต่องบการเงินเฉพาะปีที่ได้รับการแต่งตั้งให้ตรวจสอบเท่านั้น คือปี 2558 อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) ย่อหน้าที่ 33 กำหนดให้กิจการต้องจัดทำข้อมูลทางการเงินเปรียบเทียบสำหรับงวดก่อนด้วย ดังนั้น หากกิจการมิได้จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบสำหรับงวดก่อน โดยจะนำเสนอเฉพาะงบการเงินปี 2558  เพียงปีเดียว และไม่จัดทำข้อมูลทางการเงินเปรียบเทียบสำหรับปีก่อน ผู้สอบบัญชีต้องพิจารณาถึงการแสดงความเห็นต่องบการเงินดังกล่าวที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากแบบไม่มีเงื่อนไข ต่อกรณีที่มิได้จัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามที่กำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กิจการเลือกใช้ อีกทั้งผู้สอบบัญชีมีความรับผิดชอบในการตรวจสอบยอดยกมาของงบการเงินปี 2558 ว่าไม่มีรายการที่แสดงขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ โดยหากผู้สอบบัญชีไม่สามารถเชื่อมั่นในการตรวจสอบยอดยกมา ผู้สอบบัญชีต้องพิจารณาถึงการแสดงความเห็นต่องบการเงินดังกล่าวที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากแบบไม่มีเงื่อนไข

          2. TFRS for NPAEs ย่อหน้าที่ 24 และ 26 กำหนดให้กิจการรับรู้และวัดมูลค่าของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์โดยใช้ราคาทุน เมื่อกิจการคาดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต(มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี)จากสินทรัพย์นั้น และสามารถวัดมูลค่าราคาทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ

          ดังนั้นกิจการต้องพิสูจน์ก่อนว่าสินทรัพย์ส่วนกลางดังกล่าวเข้าเงื่อนไขในการรับรู้รายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ตาม TFRS for NPAEs หรือไม่

          หากกิจการไม่สามารถวัดมูลค่าราคาทุนที่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินส่วนกลางได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการอาจไม่สามารถรับรู้รายการดังกล่าวในงบแสดงฐานะการเงินได้

          ทั้งนี้ การที่กิจการได้รับสินทรัพย์ส่วนกลางย่อมน่าจะหาหลักฐานในการวัดมูลค่าราคาทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยหากสินทรัพย์ส่วนกลางดังกล่าวสามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ และมีความเป็นไปค่อนข้างแน่ที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตมากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี แต่กิจการไม่รับรู้รายการสินทรัพย์ส่วนกลางเป็นสินทรัพย์ในงบการเงิน และนำไปเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพียงอย่างเดียว ถือว่ากิจการปฏิบัติไม่เป็นไปตาม TFRS for NPAEs ที่กิจการเลือกใช้ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินได้รับข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจเพิ่มขึ้น และไม่ทำให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจผิดเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่ากิจการต้องพิจารณาเกณฑ์การรับรู้รายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ตามมาตรฐานก่อนว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ทั้งนี้ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ให้ความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติทางบัญชีดังกล่าวว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

          ในบางกรณี หากกิจการไม่สามารถวัดมูลค่าราคาทุนของสินทรัพย์ได้อย่างน่าเชื่อถือ ก็เป็นไปได้ที่กิจการจะจัดทำทะเบียนสินทรัพย์เพื่อควบคุมสินทรัพย์ภายในกิจการ โดยรวมสินทรัพย์ส่วนกลางที่ได้รับมาตาม พรบ. ดังกล่าว แต่มิได้รับรู้ราคาทุนก็สามารถทำได้ (รับรู้ด้วยยอด 0 บาทในทะเบียนสินทรัพย์ ซึ่งจะแสดงเป็นส่วนหนึ่งในทั้งงบแสดงฐานะการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วยยอด 0 บาทเช่นกัน)  เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินทราบว่ามีสินทรัพย์ใดบ้างที่กรรมสิทธิ์เป็นของกิจการ โดยกิจการมิได้จ่ายเงินเพื่อซื้อทรัพย์สินนั้นมา

          3. การพิจารณาว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นกิจการมีส่วนได้เสียสาธารณะหรือไม่เป็นการใช้ดุลยพินิจของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเอง โดยพิจารณาตามย่อหน้าที่ 6 ของ TFRS for NPAEs หากพิจารณาแล้วไม่เข้าเกณฑ์ใดๆที่เป็น PAEsในย่อหน้าที่ 6 ให้ถือว่ากิจการเป็น NPAEs ซึ่งสามารถใช้ TFRS for NPAEs หรือ TFRSs for PAEs ฉบับใหญ่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งบการเงิน

          โดยหากกิจการเลือกใช้ TFRS for NPAEs นั้น  TFRS for NPAEs มิได้กำหนดให้ใช้วิธีราคาที่ตีใหม่ ดังนั้น กิจการไม่สามารถรับรู้สินทรัพย์ส่วนกลางโดยใช้วิธีการประเมินราคาได้ โดยกิจการต้องรับรู้สินทรัพย์ส่วนกลางด้วยวิธีราคาทุนที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินส่วนกลางเท่านั้น ยกเว้นกรณีของการนำทรัพย์สินไปแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ส่วนกลางนั้น ตามที่กล่าวในย่อหน้าที่  128 ของ TFRS for NPAEs

          ทั้งนี้ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของกิจการซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในกิจการและมีข้อมูลที่มากกว่า เพื่อให้ได้รับคำตอบที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

อบคุณบทความจาก :: สภาวิชาชีพบัญชี
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 310
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores