ภาษีเป็นของคู่กับการค้า ไม่เว้นแม้แต่การค้าทางอินเทอร์เน็ต ในครั้งนี้เราจะมาคุยกันว่ารัฐบาลไทย มีกฎ กติกา มรรยาท ว่าด้วยการเก็บภาษีอย่างไร ทั้งด้านการขาย และการซื้อสินค้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
หัวใจสำคัญในการพิจารณาเรื่องภาษี คือการดูว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นสินค้า หรือ บริการ เพราะสรรพากรไทย มีระบบจัดเก็บภาษีแตกต่างกัน ตามคุณลักษณะนี้ สินค้าที่จัดว่าเป็นสินค้านั้น ก็ได้แก่สิ่งของที่จับต้องได้ตามปกติ ซึ่งคนไทยเรา คุ้นเคยอยู่แล้ว การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของสินค้าประเภทนี้ จัดเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทางอ้อม กล่าวคือ แม้การซื้อขายจะกระทำผ่านอินเทอร์เน็ต แต่การจัดส่งสินค้า ก็ยังคงผ่านช่องทางปกติ เช่นใช้บริการไปรษณีย์ หรือ บริษัทขนส่งเอกชน ในการจัดส่งสินค้า
ส่วนสินค้าประเภทใหม่ ที่เราอาจเรียกว่าเป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้นั้น จัดเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทางตรง การซื้อขาย และจัดส่งสินค้า ล้วนกระทำผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งหมด สินค้าในลักษณะนี้ได้แก่ ไฟล์ข้อมูลต่างๆ เช่น เพลงในรูปแบบ MP3 ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ หรือเอกสารข้อมูล ที่เก็บในรูปอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเหล่านี้ กรมสรรพากรตีความว่าเป็นบริการ
ในการขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตนั้น หากเป็นการขาย ให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่ในประเทศผู้ขาย ที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามปกติ แต่หากเป็นการส่งออก กรมสรรพากร ท่านสนับสนุนพ่อค้าไทย โดยให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์ เพื่อให้สินค้าไทย สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่ทั้งนี้เฉพาะสินค้า ที่จับต้องได้เท่านั้น
ส่วนสินค้าที่จับต้องไม่ได้นั้นถือเป็นบริการ แม้จะเป็นการส่งออก ก็ยังต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อยู่ ยกเว้นแต่ว่า ผู้ซื้อมีจดหมายยืนยันมาว่า ซื้อบริการ (สินค้าที่จับต้องไม่ได้) นั้นไปใช้ในต่างประเทศจริง ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ ในการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต ที่ผู้ซื้อจะยอมวุ่นวายส่งเอกสารมาให้เรา ดังนั้นประเด็นนี้ทางสรรพากรไทย คงต้องมีการพิจารณาทบทวน ให้ทันกับกระแสพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่การค้ามีแนวโน้มจะเป็น สินค้าที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น
สำหรับภาษีศุลกากรขาออกนั้น ไม่มีการเรียกเก็บ ยกเว้น หนังดิบ แต่ภาษีศุลกากรขาเข้า ก็เป็นเรื่องราวของแต่ละประเทศ ที่ลูกค้าต้องรับผิดชอบชำระกันเอง ดังนั้นหากเราเปิดร้านขายของ โดยมีลูกค้าอยู่ต่างประเทศ จะต้องระบุความรับผิดชอบด้านภาษีนำเข้าว่า เป็นภาระของลูกค้าเองด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องทะเลาะกันวันหลัง
ส่วนการสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต จากต่างประเทศนั้น ตามกฎหมายแล้ว มีภาษีที่เกี่ยวข้อง 3 ชนิด คือภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เช่นคนไทยส่วนใหญ่ ที่ขณะนี้นิยมสั่งหนังสือผ่าน amazon.com ซึ่งเป็นร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในสหรัฐอเมริกา ในกรณีนี้ เป็นการสั่งหนังสือตำราจากต่างประเทศ ทางกรมศุลกากร ให้การยกเว้นไม่เสียภาษีนำเข้า ส่วนสินค้าอย่างอื่น เช่นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ก็โดนภาษีศุลกากรกันไปตามปกติ แม้ว่าผู้ซื้อหนังสือจาก amazon.com จะไม่เสียภาษีศุลกากรก็ตาม
โดยหลักการแล้ว ผู้ซื้อสินค้า ยังมีภาระต้องรับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่เช่นเดียวกับการซื้อสินค้าภายในประเทศ ซึ่งปกติแล้ว ร้านค้ามีหน้าที่ต้องเรียกเก็บ VAT 7% จากผู้ซื้อ แต่เมื่อเราสั่งของ ทางอินเทอร์เน็ตจากผู้ขายต่างประเทศ เขาไม่สนกฎระเบียบของเราอยู่แล้ว และไม่ถือเป็นหน้าที่ที่จะไปเรียกเก็บ VAT จากลูกค้ามาให้รัฐบาลไทยด้วย ดังนั้นจึงกลายเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อเอง ที่ต้องไปแจ้งกับสำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน โดยนำหลักฐานการสั่งซื้อสินค้า หรือใบนำส่งไปให้เจ้าหน้าที่เขาแปลงเป็นเงินบาท แล้วเขาจะคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากยอดนั้นเพื่อเก็บจากเรา เมื่อจ่ายเงินให้เขาไปแล้ว ก็จะได้รับเอกสาร ภ.พ.36 เพื่อยืนยันการชำระเงิน และสามารถใช้ ภ.พ.36 นี้แทนใบกำกับภาษีซื้อได้
ในฐานะคนทั่วไป คงไม่มีใครหาเรื่องยุ่งยาก ให้กับชีวิตโดยไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้รัฐบาลไทยแน่ แต่ถ้าเราเป็นบริษัทห้างร้าน ที่ต้องการใบรับรองค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว ก็มีแรงจูงใจที่จะไปแจ้งกรมสรรพากรเพื่อออก ภ.พ.36 ให้ เพราะภาษีซื้อนี้ ก็สามารถนำไปหักจากภาษีขายได้ตามปกติ และเราก็มีหลักฐานแสดงการจ่ายเงินซื้อสินค้านั้นด้วย
ในกรณีนี้มีข้อควรพิจารณา ดังนี้
มีเรื่องน่าคิดต่อไปอีกว่า ถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งได้แก่ ข้อมูล โปรแกรม หรือ เพลง ที่เก็บอยู่ในรูปไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อผู้ซื้อชำระเงินโดยบัตรเครดิตแล้ว จะได้รับสินค้าเหล่านี้ โดยส่งมาทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเลย สินค้าประเภทนี้ สหรัฐอเมริกาชี้นำในเวที WTO ที่เจนีวา ใน พศ. 2541 ให้ประเทศสมาชิกยอมรับ ให้เป็นสินค้าปลอดภาษีศุลกากร โดยใช้คำว่า No New Tax นั่นตีความได้ว่าห้ามประเทศต่างๆ ไปคิดวิธีการเก็บภาษีใหม่ๆ มาจัดการกับสินค้าพวกนี้ ซึ่งทำให้ ความพยายามของกลุ่มยุโรป ที่จะเสนอวิธีการจัดเก็บภาษีประเภท Bit Tax (เป็นภาษีที่ คิดตามจำนวนข้อมูลที่ส่ง โดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของข้อมูลนั้น) ต่อสินค้าเหล่านี้ต้องตกไป
สินค้าที่จับต้องไม่ได้นี้ ในหลายประเทศ (รวมทั้งกรมสรรพากรไทย) ตีความว่าเป็นบริการ ดังนั้นจึงไม่ได้มีการระบุพิกัดภาษีศุลกากร ตามระบบฮาร์โมไนซ์ไว้ก่อน ทำให้กรมศุลกากร ไม่สามารถจัดเก็บภาษีศุลกากรได้ และไม่สามารถไปคิดวิธีใหม่มาเก็บได้ด้วย เพราะอเมริกาได้ตีกันไว้แล้ว หรืออยากจะเก็บจริงๆ ก็ไม่รู้จะเก็บอย่างไรเหมือนกัน เพราะสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการขนส่งตามปกติ แต่วิ่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ซื้อเลย
ในทางปฏิบัติแล้ว ยังไม่เคยพบเว็บไซต์ไหน ที่ยอมให้เราไปหักเงินเขาได้ ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทย ต้องการจ่ายภาษีให้ครบถ้วน เพื่อออก ภ.พ.36 ก็ต้องจำใจควักกระเป๋าอีก 5% เพื่อส่งให้สรรพากร โดยทำทีเสมือนว่าได้หักจากผู้ขายมาแล้ว
การซื้อขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ยังคงเป็นเรื่องใหม่ ทั้งกับพ่อค้าและรัฐบาล จึงควรที่รัฐบาลจะใช้วิธีการรอมชอม และร่วมศึกษาแก้ไขกฎระเบียบร่วมกันกับพ่อค้า เพื่อปรับรูปแบบ ให้เหมาะสมกับวิถีการค้าแนวใหม่ ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของชาติในระยะยาวนั่นเอง
ขอบคุณบทความจาก :: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com