เครดิตภาษีเงินปันผล ผลประโยชน์ที่ถูกมองข้าม

เครดิตภาษีเงินปันผล ผลประโยชน์ที่ถูกมองข้าม



ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจกับเรื่องการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจาก บริษัทที่ทำงานประจำได้คำนวณภาษีจากฐานเงินได้สุทธิและนำภาษีที่หัก ณ. ที่จ่าย ส่งกรมสรรพากรเป็นประจำทุกเดือน สิ่งที่ทำก็คือการกรอกรายละเอียดให้ถูกต้องและยื่นแบบการเสียภาษีให้ทันช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ value investor นั้น นอกจากการลงทุนในกิจการที่เห็นว่าต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานเพื่อหวังส่วนต่างของราคาหุ้นในระยะยาวแล้ว เงินปันผลก็เป็นผลตอบแทนที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้ความสำคัญอย่างมาก ช่วงเดือนเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่นักลงทุนมีความสุขกันทั่วหน้า เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ได้ทยอยส่งเช็คเงินปันผลมาให้ผู้ถือหุ้นทุกคนถึงบ้าน ทั้งนี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการและนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทนั้น ๆ ทั้งนี้มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนหนึ่งที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลรายไตรมาส หรือราย 6 เดือน

นักลงทุนจำเป็นจะต้องรู้และเข้าใจเรื่องภาษี เพราะการจ่ายภาษีอากรให้ถูกต้องและครบถ้วนตามกฎหมายกำหนดเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนจะต้องถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ความเข้าใจเรื่องภาษียังอาจช่วยประหยัดรายจ่ายภาษีได้ด้วย สำหรับนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับ "กำไรจากการขายหลักทรัพย์" หรือ กำไรส่วนต่างราคาจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (capital gain) ขณะที่ "เงินปันผล" นั้นบริษัทจะหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 นักลงทุนมีสิทธิเลือกที่จะนำเงินปันผลนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีปลายปีหรือไม่ก็ได้ ซึ่งหากเลือกที่จะนำเงินปันผลนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ปลายปี กรณีนี้จะได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล

เพื่อจะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นผมจะยกตัวอย่างการคำนวณภาษี และ การขอเครดิตภาษีเงินปันผล การคำนวณดังกล่าวเป็นการคำนวณในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่มีรายได้อื่น ดังนั้นฐานภาษีจะอยู่ในระดับต่ำสุด หากผู้ลงทุนมีรายได้ประจำหรือรายได้อื่น ต้องนำรายได้ทั้งหมดมารวมกันแล้วจึงคำนวณการเสียภาษีในอัตราที่กำหนด ขอยกตัวอย่างดังนี้

เงินปันผลที่ได้รับ 70,000 บาท (1)

หักภาษี ณ.ที่จ่าย 10% 70,000 x 10% = 7,000 บาท (2)

เงินปันผลรับจริง (1) - (2) 70,000 - 7,000 = 63,000 บาท (3)

ขอเครดิตภาษีเงินปันผลได้ 70,000 x 3 / 7 = 30,000 บาท (4) *, **

ภาษีที่ถูกหักไว้ทั้งสิ้น (2) + (4) 7,000 + 30,000 = 37,000 บาท (5)

หากไม่มีรายได้อื่น จะมีรายได้ (1)+(4) 70,000 + 30,000 = 100,000 บาท (6)

หักค่าลดหย่อนส่วนตัว = 30,000 บาท

รายได้เหลือหลังค่าลดหย่อน = 70,000 บาท

เงินได้พึงประเมินต่ำกว่า 100,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ***, ****

แต่เนื่องจากเงินได้จากเงินปันผลนี้ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และมียอดตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป

จึงต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ร้อยละ 0.5 ของเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย

ในกรณีนี้คือ 100,000 x 0.5% = 500 บาท (7)

ขอเงินภาษีคืนส่วนชำระเกิน (5) - (7) 37,000 - 500 = 36,500 บาท (8 )

เงินปันผลได้รับจริง (3)+(8 ) 63,000 + 36,500 = 99,500 บาท (9)

หมายเหตุ

* บริษัทจดทะเบียนเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 จึงสามารถขอเครดิตภาษีคืนได้ในอัตรา 3/7 ดังนั้นผู้ที่มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 37 จะไม่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการของเครดิตภาษีปันผล

** ถือเป็นเงินได้พึงประเมินและให้ถือเป็นภาษีเงินได้ถูกหัก ณ. ที่จ่ายด้วย

***เงินได้สุทธิ 100,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตั้งแต่ปีภาษี 2547 เป็นต้นไป

ในตัวอย่างดังข้างต้น เงินปันผลจริงที่ได้รับคือ 99,500 บาท ไม่ใช่ 63,000 บาทอย่างที่เข้าใจ หรือสามารถขอเครดิตภาษีปันผลคืนได้ 36,500 บาท นับว่าไม่น้อยเลย ตัวอย่างดังกล่าวเป็นการคำนวณสำหรับบริษัทที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 จึงสามารถขอเครดิตภาษีคืนได้ในอัตรา 3/7 หากบริษัทเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 25 ก็จะสามารถขอเครดิตภาษีคืนในอัตราลดลงมาคือ 1/5 หรือมาจาก 25 / ( 100-25) นั่นเอง อนึ่งสำหรับบริษัทที่ได้สิทธิยกเว้นในการเสียภาษี เราไม่สามารถนำมาขอเครดิตภาษีเงินปันผลได้ สำหรับผู้ถือหุ้น PTTEP (บรรษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม)(PTT Exploration and Production: PTTEP) จะได้ประโยชน์จากการขอเครดิตภาษีเงินปันผลอย่างมากเพราะ PTTEP เป็นธุรกิจที่ได้รับจากกิจการตามพระราชบัญญัติปิโตเลียม พ.ศ. 2541 ซึ่งเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 นั่นหมายความว่า ผู้ถือหุ้นของ PTTEP สามารถขอเครดิตเงินภาษีเงินปันผลได้ทั้งจำนวนนั่นเอง

หากจะอธิบายง่าย ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ มีการเสียภาษีซ้ำซ้อนเนื่องจาก บริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรได้ชำระภาษีนิติบุคคลแล้ว ขณะที่ผู้ลงทุนนั้นนำเงินปันผลมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง ทางการจึงอนุญาตให้นักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดามีสิทธิเลือกที่จะนำเงินปันผลนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีปลายปีเพื่อขอเครดิตภาษีปันผล ทั้งนี้นักลงทุนที่มีฐานภาษีอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำจะยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น การขอเครดิตภาษีเงินปันผลนี้จะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ประจำหรือวัยหลังเกษียณเนื่องจากไม่มีฐานภาษีดังตัวอย่างข้างต้น

สำหรับผมนั้น มองข้ามการขอเครดิตภาษีเงินปันผลมานาน นับจากนี้อัตราภาษีที่จ่ายของแต่ละบริษัทถือเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนเนื่องจากผลประโยชน์เพิ่มเติมจากการขอเครดิตภาษีเงินปันผลดังกล่าว คำถามก็คงอยู่ที่ว่า ท่านพร้อมที่จะให้ความสนใจกับผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับนี้ หรือยังคงละเลยผลประโยชน์ส่วนนี้ต่อไปอีก

ข้อมูลเพิ่มเติม : คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.119/2545 

ขอบคุณบทความจาก :: กรมสรรพากร
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 371
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores