กิจการร่วมค้เกี่ยวกับการรับจ้างทำงานโครงการใหญ่ๆ

กิจการร่วมค้เกี่ยวกับการรับจ้างทำงานโครงการใหญ่ๆ


การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับจ้างทำงานโครงการใหญ่ๆ หรือรับงานที่ต้องมีการประกวดราคา(ประมูลงาน) ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถรับงานได้โดยลำพังเพราะเงินทุนไม่พอหรือขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรับงานนั้นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการ อาจมีความจำเป็นต้องร่วมกับผู้อื่นในการรับงาน เพื่อยกระดับความสามารถในการดำเนินงาน และเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และที่สำคัญการรวมตัวกันจะทำให้เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งขันได้

การร่วมกันทางธุรกิจมีหลายลักษณะซึ่งอาจมีการนำเงินและเทคโนโลยีมาร่วมกันลงทุน โดยการกำหนดสัดส่วนหุ้นและการจัดสรร ผลประโยชน์ระหว่างกัน มีรูปแบบเหมือนการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ หรือบางลักษณะจะมีการร่วมกันรับงานเพียงอย่างเดียว โดยมีการแบ่งแยกสิทธิและหน้าที่ รวมทั้งกำไรและขาดทุนอย่างชัดเจน การร่วมกันในทางการค้านั้นที่นิยมกันในปัจจุบันคือ

    กิจการร่วมค้า (Joint Venture)

   กิจการค้าร่วม(Consortium)

กิจการร่วมค้า (Joint Venture) หมายถึง การที่ธุรกิจตั้งแต่ธุรกิจ 2 ธุรกิจขึ้นไปทำสัญญาที่จะร่วมลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันในทางการค้าหรือหากำไร โดยสิ่งที่นำมาร่วมลงทุนอาจเป็นเงินทุน ที่ดิน อาคาร เทคโนโลยี การผลิต หรือบุคลากร ภายใต้ข้อตกลงหรือสัญญาร่วมค้าซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินการอย่างชัดเจน เช่น ผลิตหรือจำหน่ายสินค้า หรือดำเนินโครงการใดโครงการหนึ่งร่วมกัน โดยต้องมีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้น หน้าที่ความรับผิดชอบ และสิทธิของแต่ละฝ่ายรวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์อันเกิดจากการดำเนินการ ทั้งนี้ ในการทำการร่วมค้าจะต้องมีผู้ร่วมค้าฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทกับบริษัท หรือบริษัทกับบุคคลธรรมดา ซึ่งต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ใช้ชื่อว่า "กิจการร่วมค้า"

   สาเหตุที่ทำให้มีการร่วมค้ากัน มักเกิดจากความต้องการเงินหรือทรัพยากรในการลงทุนเพิ่ม เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นหรือกำลังประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ หรืออาจเกิดจากการแสวงหาเทคโนโลยีและวิทยาการที่ทันสมัย เพื่อยกระดับความสามารถในการดำเนินงาน หรือต้องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ โดยอาจนำทรัพยากรส่วนที่เหลือไปร่วมทุน เช่น กำลังการผลิตของโรงงานที่เหลืออยู่ อาคารสำนักงานที่ว่างอยู่ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไป ธุรกิจที่เข้ามาร่วมค้ากันจะเป็นธุรกิจที่มีฐานะแตกต่างกัน เพราะหากอยู่ในฐานะเท่าเทียมกันแล้ว ก็มักจะเป็นคู่แข่งมากกว่าที่จะร่วมมือกันสำหรับธุรกิจที่ทำการร่วมค้ากันอาจอยู่ในประเทศเดียวกัน หรือในต่างประเทศ และ/หรือสาขาของธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศก็ได้

ประโยชน์ของการร่วมค้า

1. ช่วยให้ธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนหรือทรัพยากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

2. ช่วยลดและกระจายความเสี่ยงอันเกิดจากการประกอบกิจการในภาวะขาดทุนหรือดำเนินกิจการล้มเหลว
เนื่องจากมีผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานถึง 2 ฝ่ายหรือมากกว่า โดยในสัญญาจะระบุภาระหน้าที่และความรับ
ผิดชอบของแต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจน

3. ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เนื่องจากการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรร่วมกัน ทำให้ประหยัดและ
สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

4. ช่วยประหยัดภาษี โดยเฉพาะภาษีจากส่วนแบ่งกำไร เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า "หากกิจการร่วมค้านั้นเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทย เมื่อได้รับส่วนแบ่งของกำไรไม่ต้องนำมาคำนวณรวมกับรายได้ของบริษัทเดิมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก"

รายละเอียดของกิจการร่วมค้า

  การร่วมค้า หมายถึง การประกอบกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจของบุคคล หรือ กิจการตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยมีการควบคุมร่วมกันตามที่ตกลงในสัญญา การควบคุมร่วมกันก็หมายถึง การที่ผู้ร่วมค้ามีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงิน และการดำเนินงานของธุรกิจที่ร่วมค้านั้นร่วมกัน เพื่อให้ได้รับประโยชน์ของกิจกรรมต่างๆของธุรกิจนั้น การจัดตั้งการร่วมค้าอาจตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เช่น จัดตั้งในลักษณะห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือ อาจไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายก็ได้ แต่ไม่ว่าการร่วมค้าจะมีรูปแบบใดตามกฎหมาย การจะจัดเป็นการร่วมค้าได้ต้องมีลักษณะที่สำคัญ คือ 

  มีผู้ร่วมค้าตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ตกลงกันเป็นสัญญา และ

  สัญญาดังกล่าวระบุให้ผู้ร่วมค้าทุกรายมีอำนาจในการควบร่วมกัน

  คำว่า “ผู้ร่วมค้า” หมายถึง บุคคล หรือ กิจการที่เข้าร่วมในการร่วมค้า และมีอำนาจควบคุมร่วมในกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ หรือ การดำเนินงานของการร่วมค้านั้น แต่ถ้าผู้เข้าร่วมรายใดไม่มีอำนาจควบคุมร่วม มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 46 จะถือว่าบุคคลหรือกิจการนั้นเป็นเพียง “ผู้ลงทุน” ไม่ใช่ผู้ร่วมค้า

  สำหรับสัญญาร่วมค้านั้นมักเป็นลายลักษณ์อักษร และอาจจะรวมเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับของบริษัท หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ว่าด้วยการค้า ซึ่งข้อกำหนดในสัญญาที่สำคัญก็คือ จะต้องไม่ให้มีผู้ร่วมค้ารายใดรายหนึ่งสามารถควบคุมการดำเนินงานของการร่วมค้าได้โดยเพียงผู้เดียว ในสัญญาร่วมค้าจะต้องกำหนดถึงการให้ความเห็นชอบของผู้ร่วมค้าในการจะดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยในบางเรื่องอาจต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ร่วมค้าทุกคนก่อนจึงดำเนินการได้ แต่ในบางเรื่องอาจเพียงต้องการความเห็นชอบจากผู้ร่วมค้าทุกคนก่อนจึงดำเนินการได้ แต่ในบางเรื่องอาจเพียงต้องการความเห็นชอบจากผู้ร่วมค้าส่วนใหญ่เท่านั้นก็สามารถดำเนินการได้ทันที

  การร่วมค้านั้น แม้ว่าผู้ร่วมค้าจะมีอำนาจในการควบคุมกิจการได้ แต่ก็เป็นการควบคุมร่วมกับกับผู้ร่วมค้าคนอื่นๆ ไม่ใช่การควบคุมอย่างเต็มที่ ดังนั้นการร่วมค้าจึงมิใช่บริษัทย่อยของผู้ร่วมค้า ผู้ร่วมค้าจึงไม่จำเป็นต้องจัดทำงบการเงินรวมสำหรับการร่วมค้า

  การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับการร่วมค้าของผู้ร่วมค้านั้นจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของการร่วมค้า ซึ่งรูปแบบของกิจการร่วมค้าตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 46 สามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

  1. การดำเนินงานที่ควบคุมร่วมกัน (JOINTLY CONTROLLED OPERRATIONS)

  2. สินทรัพย์ที่ควบคุมร่วมกัน (JOINTLY CONTROLLER ASSETS)

  3. กิจการที่ควบคุมร่วมกัน หรือกิจการร่วมค้า (JOINTLY CONTROLLER ENTITIES)

  การบันทึกบัญชี หรือการแสดงรายการบัญชีสำหรับ 2 รูปแบบแรกนั้น ไม่ได้มีลักษณะอะไรที่พิเศษไปจากรายการที่เกิดจากการดำเนินงานตามปกติของกิจการผู้ร่วมค้าเอง เฉพาะการร่วมค้าในแบบที่ 3 เท่านั้น ที่จะมีการบันทึกและการแสดงรายการที่เป็นลักษณะเฉพาะของกิจการร่วมค้า

  กิจการร่วมค้า ( Joint Venture ) ตามความหมายในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฏากร คือ

" กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและ /หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น "

 ในทางปฏิบัติกรมสรรพากรได้วางบรรทัดฐานในการพิจารณาเพิ่มเติม โดยกำหนดว่ากิจการร่วมค้า จะต้องมีคุณสมบัติเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

  1) มีการร่วมทุนกัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนอันจะพึงได้ตามสัญญาที่ร่วมกันทำกับบุคคลภายนอกหรือ

  2) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุในสัญญาว่าเป็น " กิจการร่วมค้า " หรือ

  3) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยสัญญานั้นกำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกัน ในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนและต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญานั้นไม่ได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน

    ตัวอย่าง บริษัท กขค.ก่อสร้าง จำกัด ร่วมกับ บริษัท ฮ.คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้าทำสัญญารับจ้างทำถนนแก่กรมทางหลวง มูลค่าโคงการ 700 ล้าน กำหนดระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน 

 กรณีเช่นนี้ ย่อมถือว่า กิจการร่วมค้ารายนี้เป็นหน่วยภาษีใหม่แยกต่างหากจากผู้ร่วมค้าเดิมแต่ละราย

 ข้อดี ของการตั้งเป็นกิจการร่วมค้าคือ ถ้าโครงการของกิจการร่วมค้าขาดทุน ก็ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล และได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีเงินปันผลของกิจการร่วมค้า

 ข้อเสียคือ ผู้ร่วมค้าแต่ละรายไม่สามารถนำผลขาดทุน ของกิจการร่วมค้าดังกล่าวไปขอหักเป็นค่าใช้จ่ายในการยื่นแบบ ภงด.50 ของโครงการปกติอื่นๆ เช่นกัน

  1. กิจการร่วมค้า มีสถานะเป็นนิติบุคคล จึงมีสิทธิและหน้าที่เหมือนกับนิติบุคคลทั่วไป เช่น ต้องจัดทำบัญชีและ ยื่นเสียภาษี

  2. ต้องขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในนาม " กิจการร่วมค้า " กับทางสรรพากรพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ โดยใช้หลักฐานดังนี้

    2.1 สัญญากิจการร่วมค้า
    2.2 ถ้าเป็นนิติบุคคล ให้แสดงหนังสือรับรองนิติบุคคลทุกฝ่าย พร้อมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อ
    2.3 ถ้าเป็นบางส่วนเป็นบุคคล ก็ใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลนั้น 
    2.4 หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือ สัญญาเช่า
    2.5 หนังสือมอบอำนาจ และหลักฐานผู้รับมอบอำนาจ

   และถ้าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ให้เตรียมหลักฐานการจดภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วยไปด้วย

กิจการค้าร่วม (Consortium) คือ การประกอบธุรกิจที่มีลักษณะของการร่วมกันขององค์กรธุรกิจตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป เพื่อดำเนิน กิจการหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์ คือเป็นการเข้าร่วมกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามแผนธุรกิจ แต่ละฝ่ายจะใช้ความสามารถและความ ชำนาญในการทำงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบให้สำเร็จตามโครงการ และมีการแบ่งแยกการทำงานไว้อย่างชัดเจน โดยต่างฝ่ายต่าง ออกใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินเฉพาะของบริษัทตน

  สัญญากิจการค้าร่วมเป็นเพียงการลงนามร่วมกันในการทำสัญญากับเจ้าของโครงการเท่านั้น เพราะแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบเฉพาะใน ส่วนของตน ไม่มีการร่วมทุนหรือแบ่งปันผลกำไรหรือขาดทุนระหว่างกัน เมื่องานเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะยุติลงเหมือนกับกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้าไม่มีชื่อเรียกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายรัษฎากร จึงไม่ต้องขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี อากร แต่มีการเสียภาษีจากกำไรของแต่ละบริษัทนั่นเอง

  ประโยชน์ของกิจการค้าร่วม คือ ผู้ประกอบการจะสามารถคำนวณหรือประเมินความสามารถของตนในการรับงานในแต่ละส่วนได้ และจะรับผิดชอบเฉพาะส่วนงานของตนเองเท่านั้น ตัวอย่างของกิจการค้าร่วมเช่น บริษัท A และบริษัท B ร่วมกันทำสัญญากับ หน่วยงานรัฐ ในการขายและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์โดยใช้ชื่อ "กิจการร่วมค้า AB" หรือ "คอนซอร์เตียม AB" ซึ่งบริษัท A รับผิดชอบในการขายอุปกรณ์ ส่วนบริษัท B รับผิดชอบในการติดตั้งระบบ เมื่อปรากฎว่าเกิดความเสียหายจากการพัฒนาระบบจนไม่สามารถใช้งานได้อันมิใช่เกิดจากอุปกรณ์ ดังนั้นบริษัท B จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

   Consortium จะมีลักษณะแตกต่างจาก Joint Venture กล่าวคือ สมาชิกของ Consortium นั้นจะมีการแบ่งแยกงานและเงินที่สมาชิกแต่ละคนจะได้รับจากเจ้าของโครงการ จะมีการร่วมกันก็เพียงแต่มาลงนามในสัญญาฉบับเดียวกันที่ทำกับเจ้าของโครงการเท่านั้นเอง โดย Consortium นั้นไม่ได้เป็นหน่วยภาษีแยกต่างหากจากผู้เป็นสมาชิกของ Consortium 

  จึงกล่าวได้ว่า Consortium นั้น สมาชิกแต่ละคนจะได้รับเงินในส่วนของงานที่ตนทำ จะกำไรหรือขาดทุนก็เป็นเรื่องของตน ไม่มีการไปรวมกับกำไรหรือขาดทุนของสมาชิก Consortium รายอื่น และสมาชิก Consortium แต่ละรายก็จะเสียภาษีโดยยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีของตนแยกแต่ละรายไป

  ส่วนในแง่ความรับผิดนั้น สมาชิกของกิจการร่วมค้าจะรับผิดร่วมกันต่อเจ้าของโครงการ แต่ Consortium นั้น โดยปกติต่างคนต่างรับผิดชอบเฉพาะส่วนที่เป็นงานของตน แต่หากเจ้าของโครงการต้องการให้สมาชิกของ Consortium รับผิดชอบร่วมกันทั้งหมดก็ตกลงกันได้

  คำว่า Consortium นั้นไม่มีการบัญญัติไว้ทั้งในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์และ ประมวลรัษฏากร จึงไม่ต้องขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี และทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากไม่ใช่หน่วยภาษีที่แยกต่างหากจากสมาชิก Consortium


อบคุณบทความจาก :: สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 427
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores