การลงรายการทางบัญชีในบางเรื่องโดยไม่มีหลักฐาน (เนื่องจากคนที่รับเงินไม่ออกหลักฐานให้) โดยเฉพาะรายการจ่ายเงิน บางคนไม่รู้จะลงรายการว่าเป็นค่าอะไร นึกไม่ออกเลยใส่เป็น “ค่านายหน้า” ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ค่านายหน้า เมื่อถามว่ารายจ่ายที่ลงรายการไปแล้วนั้น เมื่อถึงเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) มีการปรับปรุงรายการ รายจ่ายดังกล่าวมาบวกกลับหรือไม่ คำตอบที่ได้รับส่วนใหญ่คือ “ไม่มี” ลงแล้วลงเลย ประเด็นนี้หากเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบก็มีปัญหาแน่ๆ เพราะรายการจ่ายเงินเช่นนี้ไม่ใช่เป็นค่านายหน้า เมื่อไม่เป็นค่านายหน้าแล้ว ไปลงเป็นรายจ่ายว่าเป็นค่านายหน้าจึงถือเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียทั้งสองเด้ง
หากถามว่า ค่านายหน้าจะลงรายจ่ายในทางภาษีได้หรือไม่คำตอบคือ ได้ หากเป็นค่านายหน้าที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ประกอบการจริง ไม่ใช่กำหนดขึ้นเอง คำถามต่อมาคือแล้วลักษณะอย่างไรจึงถือเป็นค่านายหน้า ตอบได้ง่ายๆ ชัดๆ เลยว่าก็ต้องเป็นค่า “นายหน้า” น่ะสิ !!
ค่านายหน้า คือค่าตอบแทนที่จ่ายให้แก่บุคคลที่เป็นนายหน้าที่ชี้ช่องให้บุคคลหนึ่งเข้ามาทำสัญญากับบุคคลหนึ่ง หรือชักชวนให้บุคคลหนึ่งมาทำสัญญากับอีกบุคคลหนึ่ง เช่น นายหน้าสินค้า นายหน้าที่ดิน นายหน้าลูกค้า เป็นต้น การจ่ายเงินค่านายหน้าจึงเป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่ต้องการมีรายได้จากการายสินค้าหรือให้บริการ ก็ต้องหานายหน้ามาช่วยหาลูกค้าให้
สำหรับภาระภาษีของตัวบุคคลที่ได้รับค่านายหน้า มีดังนี้
1. ภาษีเงินได้
1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีผู้รับค่านายหน้าเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น
นาย ก. หรือ นาย ข. หรือห้างหุ้นส่วนสามัญดำและแดง ได้รับค่านายหน้าต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ โดยค่านายหน้าถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร (แต่ถ้าลูกจ้างของบริษัทนายจ้างได้รับค่านายหน้าจากนายจ้าง สรรพากรตีความว่าค่านายหน้าที่ได้รับเป็นเงินได้จากการจ่างแรงงานที่ได้รับจากนายจ้าง ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร) หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ถ้าผู้มีเงินได้เป็นผู้ที่สมรสแล้วโดยความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ต้องนำค่านายหน้าที่ได้ไปรวมยื่นกับสามีตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากกรณีนี้ถือว่าเงินได้ของภริยาเป็นของสามี โดยเงินได้ดังกล่าวนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้จากค่านายหน้า ต้องนำค่านายหน้าไปรวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ภ.ง.ด. 50 เช่นเดียวกับรายได้อื่น โดยให้คำนวณเป็นรายได้ตามเกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม การเป็นนายหน้าถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้านายหน้ามีรายรับจากการให้บริการเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการและต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85 และมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่ว่านายหน้านั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และเมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว นายหน้าก็จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนภาษีและคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาษีขายหักภาษีซื้อทุกเดือนภาษี
สำหรับภาระภาษีของผู้จ่ายค่านายหน้าให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นนายหน้า มีดังนี้
1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินค่านายหน้าจะต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งดังนี้
1.1 กรณีผู้รับค่านายหน้าเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น จ่ายค่านายหน้าให้แก่
นาย ก. และนาย ข. เป็นต้น จะต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีวิธีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไว้โดยเฉพาะ (วิธีการเช่นเดียวกับการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง) เว้นแต่ถ้าผู้รับอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ในปีภาษี ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 50(1) วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 กรณีผู้รับค่านายหน้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เช่น จ่ายค่านายหน้าให้บริษัท ก. จำกัด เป็นต้น ถ้าผู้จ่ายค่านายหน้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้จ่ายเงินดังกล่าวต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 และนำส่งตามข้อ 3/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ แต่ถ้าผู้จ่ายเงินเป็นบุคคลธรรมดาก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
1.3 ถ้าเป็นการจ่ายค่านายหน้าให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศโดยมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินต้องหักภาษีจากค่านายหน้าที่จ่ายไว้ และนำส่งในอัตราร้อยละ 15 ของค่านายหน้าที่จ่าย และนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 54
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายค่านายหน้าให้แก่ผู้ประกอบการ (นายหน้า) ซึ่งอยู่ในต่างประเทศโดยหาลูกค้าในประเทศไทยให้แก่ผู้จ่ายค่านายหน้าในประเทศไทย ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามแบบ ภ.พ. 36 ทั้งนี้ ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ขอบคุณบทความจาก :: สรรพากรสาส์น
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com