ไขปัญหาการ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ไขปัญหาการ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
คำถาม : นาย ก. สถานภาพโสด มีเงินได้จากเงินเดือน ๆ ละ 10,000 บาท ไม่มีรายได้อื่น ทั้งปีมีเงินได้ทั้งสิ้น 120,000 บาท จะต้องยื่นแบบแสดงรายการหรือไม่
คำตอบ : นาย ก. ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบแสดงรายการหากมีเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เกิน 120,000 บาท
คำถาม : นาย ข. สถานภาพโสด มีเงินได้จากเงินเดือน ๆ ละ 11,000 บาท ไม่มีรายได้อื่น ทั้งปีมีเงินได้ทั้งสิ้น 132,000 บาท คำนวณภาษีแล้วไม่มีภาษีต้องเสีย จะต้องยื่นแบบแสดงรายการหรือไม่
คำตอบ : นาย ข. มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ แม้ว่าคำนวณภาษีแล้วไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่มก็ตาม
คำถาม : นาย ค. มีเงินได้จากเงินเดือน และในเดือนมิถุนายน 2560 ได้รับรางวัลจากการชิงโชค
เป็นรถยนต์ 1 คัน มูลค่า 900,000 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วร้อยละ 5 และมีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 แล้วต้องยื่นแบบอย่างไร
คำตอบ : นาย ค จะต้องนำเงินได้ทั้งหมดที่ได้รับในปีภาษี 2560 (เงินเดือน + รางวัล) มารวมคำนวณ
เพื่อยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 และสามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้มาเครดิตในการคำนวณเงินได้
คำถาม : ในปีภาษี 2560 นาย ง. ทำงาน 2 แห่ง โดยได้รับเงินเดือนจาก บริษัท ABC จำกัด ในเดือนมกราคม ถึง เดือนมิถุนายน 2560 และลาออกไปทำงานที่บริษัท XYZ จำกัด ในเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนธันวาคม 2560 จะต้องเสียภาษีอย่างไร
คำตอบ : นาย ง. จะต้องนำเงินได้ทั้งหมดที่ได้รับในปีภาษี 2560 (บริษัท ABC + บริษัท XYZ) มารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบแสดงรายการและสามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้มาเครดิตในการคำนวณเงินได้โดยกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้เป็นของรายบริษัท ที่จ่ายเงินได้มากที่สุดเพียงรายเดียว
คำถาม : เด็กหญิง ป. อายุ 5 ขวบ ได้รับรางวัลจากการชิงโชคเป็นทองคำหนัก 20 บาทมูลค่า 400,000 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 5 จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีอีกหรือไม่
คำตอบ : เด็กหญิง ป. ได้รับรางวัลมูลค่า 400,000 บาท ถือว่ามีเงินได้ตามมาตรา 40(8) แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วก็ตาม ยังคงมีหน้าที่ต้องนำเงินรางวัลที่ได้รับไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ โดยให้เป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นตัวแทนในการชำระภาษี
คำถาม : นาง ส. อายุ 80 ปี เป็นหม้าย มีเงินได้จากการให้เช่าบ้าน 2 หลัง ค่าเช่าหลังละ 5,000 บาท ต่อเดือน ต้องยื่นแบบเสียภาษีหรือไม่ เพราะได้รับยกเว้นเงินได้ จำนวน 190,000 บาท
คำตอบ : นาง ส. มีเงินได้ค่าเช่าทั้งปี จำนวน 120,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ และ นาง ส. อายุ 80 ปี ได้รับยกเว้นเงินได้ไม่เกิน 190,000 บาท เมื่อคำนวณภาษีแล้วไม่มีภาษีต้องเสีย แต่ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ
คำถาม : นาย ช. เป็นพนักงานได้รับเดือนทั้งปี 500,000 บาท แต่นายจ้างไม่ยื่นแบบแสดงรายการให้นาย ช. ใครเป็นผู้มีหน้าที่ระหว่าง นาย ช. หรือ นายจ้าง
คำตอบ : นาย ช. เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
คำถาม : สามีภริยา ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ หากยื่นแบบโดยรวมคำนวณภาษีแล้ว และประสงค์จะยื่นแบบใหม่โดยขอแยกการคำนวณภาษี สามารถทำได้หรือไม่
คำตอบ : หากสามีภริยา เมื่อได้เลือกยื่นรายการโดยรวมคำนวณภาษีในปีภาษีใดแล้ว ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้นตลอดไป เว้นแต่อธิบดีจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว
คำถาม : นาย ช. และ นาง ว. ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้มีความประสงค์แยกยื่นแบบแสดงรายการ หากนาย ช. ยื่นแบบผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา นาง ว. จะต้องยื่นแบบผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาด้วยหรือไม่
คำตอบ : การยื่นแบบแสดงรายการผู้เงินได้แต่ละคนสามารถเลือกช่องทางที่ตนเองสะดวก ได้แก่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ RD Smart Tax (เฉพาะ ภ.ง.ด.91)
คำถาม : นาย ฉ. ต้องการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต จะต้องทำอย่างไร
คำตอบ : นาย ฉ. ต้องลงทะเบียนเพื่อขอรับหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านก่อนจึงจะสามารถยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตได้
คำถาม : นาย ฌ. ในปีที่ผ่านมายื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต หากปีนี้ต้องการยื่นแบบด้วยกระดาษผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้หรือไม่
คำตอบ : สามารถกระทำได้
คำถาม : บุคคลธรรมดาจะต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรหรือไม่ และขอได้ที่ใด
คำตอบ : บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ให้ใช้เลขประจำตัวที่ออกโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยออกให้ ถือเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร จึงไม่ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรอีก หากเป็นชาวต่างชาติ ยังคงมีหน้าที่ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร สามารถยื่นคำร้องขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ด้วย แบบ ล.ป. 10.1 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่ผู้ยื่นคำร้องมีภูมิลำเนาอยู่
คำถาม : นาง ญ. มีเงินได้ประเภทเงินเดือนและค่าเช่าบ้าน จะต้องใช้แบบประเภทใดในการยื่นแบบเสียภาษี
คำตอบ : กรณีมีทั้งเงินเดือนและเงินได้อื่น หรือมีเงินได้อื่นอย่างเดียว ต้องใช้แบบ ภ.ง.ด.90 เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
คำถาม : นาง ฐ. มีเงินได้จากดอกเบี้ย ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ร้อยละ 15 เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการอีกหรือไม่
คำตอบ : นาง ฐ. มีสิทธิเลือกไม่นำเงินได้ดอกเบี้ยไปยื่นแบบแสดงรายการ เนื่องจากผู้จ่ายได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แล้ว
คำถาม : นาง บ. มีเงินได้จากเงินปันผล ได้ถูกผู้จ่ายเงินได้ หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แล้วร้อยละ 10 เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการอีกหรือไม่
คำตอบ : นาง บ. มีสิทธิเลือกไม่ต้องนำเงินปันผล ไปยื่นแบบแสดงรายการหากไม่ประสงค์จะขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้
คำถาม : นาง น. มีเงินได้จากเงินปันผล ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 10 โดยเงินปันผลที่ได้รับ จะมีทั้งที่ได้เครดิตภาษีเงินปันผลและไม่ได้เครดิตภาษีเงินปันผล เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ จะเลือกเฉพาะที่ได้เครดิตภาษีเงินปันผลไปยื่นเท่านั้น ได้หรือไม่
คำตอบ : หาก นาง น. จะนำเงินปันผลไปยื่นแบบแสดงรายการ จะต้องนำเงินปันผลทั้งหมดที่ได้รับไม่ว่าจะได้เครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่ได้เครดิตภาษีเงินปันผล ไปรวมคำนวณเพื่อยื่นแบบแสดงรายการทั้งหมด
คำถาม : นาง ล. มีเงินได้จากเงินปันผล และมีเงินได้จากดอกเบี้ย หากต้องการยื่นแบบฯ เฉพาะเงินปันผล
แต่ดอกเบี้ยเลือกไม่ยื่นแบบฯ ได้หรือไม่
คำตอบ : ทำได้ หากจะนำเงินปันผลไปยื่นแบบแสดงรายการ จะต้องนำเงินปันผลทั้งหมดที่ได้รับไม่ว่าจะได้เครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่ได้เครดิตภาษีเงินปันผล ไปรวมคำนวณทั้งหมด
คำถาม : การยื่นแบบใน application RD SMART TAX สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกประเภทหรือไม่
คำตอบ : ได้เฉพาะแบบ ภ.ง.ด.91 เท่านั้น
คำถาม : ต้องการแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2560 ต้องทำอย่างไร
คำตอบ : สามารถดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซด์กรมสรรพากร www.rd.go.th >เลือก Download แบบแสดงรายการภาษี/แบบคำร้องคำขอต่าง ๆ > แบบแสดงรายการภาษี > ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือสามารถขอได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ทุกแห่ง
คำถาม : ได้รับแบบ ภ.ง.ด.90/91 (ฉบับกระดาษ) จากกรมสรรพากร แต่ในปีภาษี 2560 ไม่ได้ทำงานไม่มีรายได้ ต้องทำอย่างไร
คำตอบ : หากไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่ไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ
คำถาม : เคยลงทะเบียนยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตไว้แล้ว โดยปี 2559 ยื่นแบบผ่าน สส. แต่ปี 2560 จะยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่
คำตอบ : ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ให้นำหมายเลขผู้ใช้ และรหัสผ่าน login เพื่อยื่นแบบแสดงรายการได้เลย
คำถาม : การยื่นแบบเพิ่มเติมหากฉบับแรกได้ยื่นแบบไปเรียบร้อยแล้วมีภาษีชำระไว้เกิน แต่ทำรายการไว้ไม่ถูกต้องจะยื่นแบบใหม่ จะต้องทำรายการอย่างไร
คำตอบ : ให้ทำรายการใหม่ที่ถูกต้องทั้งหมดจากนั้นรายการหน้าสุดท้ายของแบบแสดงรายการ
ข้อสังเกต
แบบ ภ.ง.ด.91 ข้อ 19 หากแบบฉบับปกติ (ฉบับแรก)
ไม่มีภาษีชำระเพิ่มให้ระบุ 0 (เลขศูนย์)
มีภาษีชำระเพิ่มให้ระบุจำนวนเงินที่ได้ชำระไว้
แบบ ภ.ง.ด.90 ข้อ 22 หากแบบฉบับปกติ (ฉบับแรก)
ไม่มีภาษีชำระเพิ่มให้ระบุ 0 (เลขศูนย์)
มีภาษีชำระเพิ่มให้ระบุจำนวนเงินที่ได้ชำระไว้
คำถาม : ในกรณีที่พบว่า รายการข้อมูลการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ไม่ถูกต้อง ต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ : กรณีที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมาภายหลังพบว่า ข้อมูลที่แจ้งไว้นั้นไม่ถูกต้องสามารถดำเนินการได้ดังนี้
คำถาม : ได้ยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตและมีภาษีต้องชำระเพิ่ม แต่ลืมชำระ ต้องทำอย่างไร
คำตอบ : การยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต หากมีภาษีต้องชำระแต่มิได้ชำระภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
ถือว่าแบบแสดงรายการดังกล่าวไม่สมบูรณ์ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการใหม่ (ฉบับกระดาษ) ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา พร้อมชำระเงินภาษีและเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน และค่าปรับกรณีไม่ได้ยื่นแบบฯ ภายในกำหนดเวลา
คำถาม : หากยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว จะนำเช็คไปชำระที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้หรือไม่
คำตอบ : ไม่ได้
คำถาม : หากยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว ต้องชำระเพิ่มเติม และเลือกช่องทางชำระเป็น ATM ได้
หากต้องการเปลี่ยนเป็นชำระผ่าน Counter ธนาคาร ได้หรือไม่
คำตอบ : ทำได้ โดย Log in เพื่อเลือกช่องทางชำระใหม่อีกครั้ง
คำถาม : ลงทะเบียนและยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ตแต่จำรหัสผ่านไม่ได้ จะต้องทำอย่างไร
คำตอบ : กรณีลืมรหัสผ่านสามารถนำเม้าส์คลิกที่ตัวอักษร “ลืมรหัสผ่าน” เพื่อกรอกข้อมูลและเลือกคำถาม – คำตอบที่ได้ให้ไว้เมื่อครั้งที่สมัครเข้ายื่นแบบฯ ถ้ากรอกข้อมูลได้ตรงกัน ระบบจะแสดงรหัสที่เคยตั้งไว้เพื่อนำไปใช้ในการเข้าระบบยื่นแบบแสดงรายการภาษี
คำถาม : ลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ลืมคำถาม - คำตอบที่ได้เลือกไว้จะขอรหัสผ่านใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ : กรณีลืม “คำถาม” และหรือ “คำตอบ” ที่ได้เลือกไว้ ขอให้เข้าสู่ระบบ “ขอรหัสผ่านใหม่” ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th > “บริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต”
คำถาม : การลงทะเบียนต้องระบุวัน เดือน ปีเกิด หากไม่มีวันที่ หรือ เดือนเกิด จะต้องระบุอย่างไร
คำตอบ : ผู้ลงทะเบียนไม่มีวันที่ หรือ เดือนเกิด ทราบเพียงปีเกิด พ.ศ. 2524 กรอกวัน เดือน ปีเกิดดังนี้ 00002524
คำถาม : ชาวต่างชาติลงทะเบียนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบแจ้งว่า ชื่อหรือวัน/เดือน/ปีเกิด ไม่ตรงกับฐานข้อมูลกรมสรรพากร จะแก้ไขอย่างไร
คำตอบ : ยื่นแบบ ล.ป.10.1 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่
ที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานประจำตั้งอยู่ก็ได้โดยแนบภาพถ่ายหนังสือเดินทางพร้อมบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรฉบับเดิม (ถ้ามี) ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้เรื่องกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร
คำถาม : ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตจะต้องกรอก “ชื่อเว็บไซต์หลัก” ที่ใช้ทำธุรกรรมหรือไม่
คำตอบ : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อเข้าสู่ระบบในหน้าจอแรกของการกรอกรายละเอียด ระบบจะแจ้งข้อความว่า “กรุณากรอกชื่อเว็บไซต์หลักที่ใช้ทำธุรกรรม หากมี กดปุ่ม OK หากไม่มีกดปุ่ม Cancel” กรณีที่ผู้มีเงินได้มีเว็บไซต์หลักที่ใช้ในการประกอบธุรกรรมให้ระบุชื่อเว็บไซต์ในรูปแบบของเว็บไซต์จริงเท่านั้น ก่อนกดปุ่ม “ตกลง” เพื่อทำรายการยื่นแบบต่อไป
คำถาม : คนพิการจะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท ได้หรือไม่
คำตอบ : ผู้มีเงินได้ที่เป็นคนพิการ อายุไม่เกิน 65 ปี สามารถใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท
ตามหลักเกณฑ์โดยสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากกรมสรรพากรมีการปรับปรุงฐานข้อมูลคนพิการที่ได้รับสิทธิเป็นปัจจุบัน ตามข้อมูลที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.)
คำถาม : ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ในหน้าจอบันทึกข้อมูลผู้จ่ายเงินได้ ให้กรอกอย่างไร
คำตอบ : ให้กรอกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ (กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นนิติบุคคล) หรือหมายเลขประจำตัวประชาชน (กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบุคคลธรรมดา) ในแต่ละช่องตามประเภทเงินได้นั้นๆ โดยดูได้จากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายเงินได้ออกให้กรณีเงินได้ประเภทหนึ่งๆ มีผู้จ่ายเงินได้หลายราย ให้เลือกกรอกเพียงรายเดียวที่มีการจ่ายเงินได้สูงที่สุด
หากมีเงินได้ตามมาตรา 40(5) (6) เฉพาะแพทย์ และ (8) ที่ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย บันทึกเป็น 0.00 โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลผู้จ่ายเงินได้
คำถาม : หลังจากได้ดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แล้ว จะสามารถทราบได้อย่างไรว่ากรมสรรพากรได้รับแบบฯ แล้ว และถือว่าการยื่นแบบฯ นั้น เสร็จสมบูรณ์
คำตอบ : การยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตเมื่อทำรายการเสร็จสมบรูณ์กรมสรรพากรจะยืนยันข้อมูลและตอบรับการยื่นแบบฯ โดยแจ้งผลการยื่นแบบฯ พร้อมหมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบฯ ให้ทราบทันทีที่หน้าจอและหากมีภาษีที่ต้องชำระการยื่นแบบฯ จะสมบรูณ์เมื่อกรมสรรพากรได้รับชำระภาษีที่ท่านชำระผ่านหน่วยรับชำระภาษีต่างๆ
- หรือตรวจสอบโดยการ Log in ด้วยหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านอีกครั้ง จะพบข้อความ “กรมสรรพากรได้รับแบบแสดงรายการของท่านแล้ว ประสงค์จะยื่นแบบฯ เพิ่มเติมหรือไม่” หมายถึง ท่านได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้ว (เป็นกรณีที่ได้ยื่นแบบไว้แต่ไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่ม)
- หรือตรวจสอบโดยการ Log in ด้วยหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านอีกครั้ง จะพบข้อความ สถานะค้างชำระ หมายถึง ท่านได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้วแต่ยังมิได้ชำระภาษี
คำถาม : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ตต้องนำส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ในการหัก
ค่าลดหย่อนให้กรมสรรพากรหรือไม่ หากไม่ต้องนำส่งต้องเก็บรักษาเอกสารไว้นานเท่าใด และกรมสรรพากร
มีวิธีการตรวจสอบข้อมูลอย่างไร
คำตอบ : การยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ต้องนำส่งเอกสารหลักฐานแต่อย่างใด แต่ผู้เสียภาษียังคงต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ในการลดหย่อนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี กรณีมีเหตุสงสัยเจ้าหน้าที่สรรพากรอาจขอตรวจสอบเอกสารหลักฐาน จะต้องนำมาแสดงตามที่ได้ใช้สิทธิ์ไว้
คำถาม : สำหรับปีภาษี 2560 สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ถึงเมื่อใด
คำตอบ : กรมสรรพากรขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษีและการนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านอินเทอร์เน็ต ออกไปอีก 8 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี
ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง วันที่ 9 เมษายน 2561 (เนื่องจาก วันที่ 8 เมษายน 2561 ตรงกับวันหยุดราชการ จึงเลื่อนเป็นวันทำการถัดไป)
คำถาม : ต้องการทราบว่า สถานะเงินคืนภาษีเป็นอย่างไร
คำตอบ : สามารถตรวจสอบสถานะเงินคืนภาษีได้ด้วยตนเอง ที่เมนูสอบถามการขอคืน http://www.rd.go.th/publish/27942.0.html เพื่อความสะดวกในการค้นหา กรุณาใส่ ปีภาษี, ชื่อ, นามสกุล ตามด้วยเลขประจำตัวประชาชน
คำถาม : หากมีภาษีชำระไว้เกิน กรมสรรพากรจะคืนเงินให้โดยวิธีใด
คำตอบ : เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ชำระภาษีไว้เกิน กรมสรรพากรจะทำการคืนเงินภาษีโดยโอนเงินเข้าบัญชีที่ท่านได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้โดยผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชน
คำถาม : ตรวจสอบสถานะ การขอคืน พบว่าเงินเข้าบัญชีแล้ว อยากทราบว่าเข้าบัญชีของธนาคาร
คำตอบ : สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง
- ช่องทางปกติตรวจสอบจากสมุดบัญชีเงินฝากทุกบัญชีของทุกธนาคารที่มีเช่นเคย เปิดบัญชีไว้กับธนาคารใดบ้าง เช่น ธกส. ธอส. ออมสิน กรุงไทย เป็นต้น
- ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กรณีมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารใดสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของธนาคาร, ตู้ ATM หรือ Application Mobile ของแต่ละธนาคารได้โดยในการทำรายการเลือกบริการ Promptpay เมื่อได้ระบุเลขประจำตัวประชาชนระบบของธนาคารจะสามารถแจ้งได้ว่าท่านได้เคยลงทะเบียนไว้กับธนาคารใด จากนั้นขอให้ท่านติดต่อกับธนาคารนั้น ๆ โดยตรง
คำถาม : หากได้สมัครพร้อมเพย์ภายหลังยื่นแบบแสดงรายการต้องแจ้งกรมสรรพากรหรือไม่
คำตอบ : หากได้สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชนกับธนาคารแล้วกรมสรรพากร
จะดำเนินการตรวจสอบกับธนาคารและโอนเงินคืนภาษีเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของท่านโดยเร็ว โดยที่ไม่ต้องแจ้งกรมสรรพากรทราบแต่อย่างใด
แหล่งที่มา http://www.rd.go.th/publish/