เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.05)/1022 |
วันที่ | : 8 ธันวาคม 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าโฆษณา ค่าห้องพัก ค่าจัดหารถยนต์พร้อมคนขับ ค่าเช่า ค่าจ้างเทพื้นคอนกรีต ค่าซื้อหนังสือพิมพ์ ค่าป่วยการ และเงินเดือน |
ประเด็นปัญหา | : คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528,มาตรา 40(8), มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร |
1. บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัทในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่มีสถานประกอบการใน ประเทศไทย โฆษณาสินค้าผ่านเว็บไซต์ของบริษัทในประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัทฯ จะนำรูปถ่ายและตัวอย่างสินค้าที่ผลิตส่งมอบให้บริษัทในประเทศสิงคโปร์ เพื่อโฆษณาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลที่เข้าไปดูรายการสินค้าในเว็บไซต์ จึงขอทราบว่า หากบริษัทฯ ได้ชำระค่าบริการ (Information Listing In Japan-Thailand Electronic Online Directory) ให้แก่บริษัทในประเทศสิงคโปร์ จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย (ภ.ง.ด.54) และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) หรือไม่ อย่างไร 2. บริษัทฯ จ่ายค่าห้องพักของพนักงานให้แก่บริษัทผู้ให้เช่า โดยหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ต่อมาบริษัทผู้ให้เช่าได้เปลี่ยนกิจการเป็นโรงแรม และ เรียกเก็บเป็นค่าบริการห้องพัก บริษัทฯ สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ได้ หรือไม่ 3. บริษัทฯ ทำสัญญากับบริษัทอื่น ให้จัดหารถยนต์ตู้และรถบัสพร้อมคนขับเพื่อรับ-ส่งพนักงานตามจุดต่าง ๆ และจัดหารถบัสพร้อมคนขับนำมาจอดไว้ที่บริษัทฯ ทั้งวันเพื่อ รับ-ส่งพนักงานผู้มาทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และจัดหารถยนต์ตู้พร้อมคนขับเพื่อสำรอง (Stand by) ไว้ใช้ออกไปในสถานที่ต่าง ๆ แล้วแต่กรณี หรือเพื่อพาแขกไปตีกอล์ฟตามจังหวัดใกล้เคียงใน บางครั้ง โดยมีข้อกำหนดแห่งสัญญาให้บริษัทผู้จัดหารถยนต์คำนวณค่าบริการและค่าน้ำมันตามระยะทางพร้อมค่าล่วงเวลา บริษัทฯ ขอทราบว่า (1) บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการให้บริการจัดหา รถยนต์ตู้และรถบัสพร้อมคนขับ ในอัตราเท่าใด อย่างไร เป็นอย่างไร (2) หลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 1.0 สำหรับค่าเช่า ค่าบริการ และค่าขนส่ง ตามลำดับเป็นอย่างไร 4. บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด สำหรับการจ่ายเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) กรณีบริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้บุคคลธรรมดาทำการกั้นห้อง หรือเทพื้นคอนกรีต โดยผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระทั้งหมด และจ่ายค่าจ้างแต่ละครั้งเป็นจำนวนไม่เท่ากัน (2) กรณีบริษัทฯ ซื้อหนังสือพิมพ์รายวันจากบุคคลธรรมดาทุกวันในราคาปกติ (3) กรณีรถยนต์รับส่งพนักงานของบริษัทฯ ไม่เพียงพอในบางวัน บริษัทฯ จะว่าจ้างบุคคลธรรมดาให้จัดหารถยนต์พร้อมคนขับ เพื่อรับส่งพนักงานตามสถานที่ต่าง ๆ ตามที่ ตกลงกัน โดยตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นรายเที่ยวเที่ยวละไม่ถึง 1,000 บาท ตามระยะทางใกล้หรือไกลของเส้นทาง ทั้งนี้ บริษัทฯ จะรวบรวมจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนเดือนละครั้ง โดยในบางเดือนมีจำนวนเกินกว่า 1,000 บาท 5. กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อเครื่องจักรจากบริษัทในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิต สินค้าประเภทเดียวกัน แต่ไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทย และได้ทำข้อตกลงให้บริษัท ในประเทศมาเลเซีย จัดส่งวิศวกรเครื่องจักร เพื่อให้คำแนะนำวิธีใช้เครื่องจักรให้ราบรื่นและมี ประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า โดยบริษัทในประเทศมาเลเซีย จะจัดส่งวิศวกรจำนวน 4 คน มาให้คำแนะนำเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรืออาจจะมากหรือน้อยกว่า แล้วแต่กรณี ในปีภาษี เดียวกัน โดยบริษัทฯ จะรับผิดชอบให้ความสะดวกเกี่ยวกับที่พักและรถรับ-ส่ง พร้อมจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 600 บาท ให้แก่วิศวกรโดยตรง ระหว่างที่พักอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งเงินเดือน ในประเทศมาเลเซีย เงินประกันตามกฎหมาย ค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ และค่าล่วงเวลา โดยบริษัทฯ จะโอนเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทในประเทศมาเลเซีย ตามใบแจ้งหนี้ที่จัดส่งมาเรียกเก็บ ภายหลัง บริษัทฯ ขอทราบในกรณีดังต่อไปนี้ (1) บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากวิศวกรจำนวน 4 คน หรือไม่ หากต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้คำนวณภาษีจากฐานรายได้ใด นำส่งด้วยแบบแสดง รายการใด หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างไร (2) บริษัทฯ ในประเทศมาเลเซียต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร (3) บริษัทฯ ต้องหักภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร จากฐานค่าใช้จ่ายใดบ้าง |
|
แนววินิจฉัย | (1) เนื่องจากกรณีดังกล่าวถ้ามีการเปิดเว็บไซต์เพื่อใช้บริการในประเทศไทย ถือว่าเป็นการให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงิน ค่าบริการให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3 ของคำสั่ง กรมสรรพากร ที่ ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544 ด้วยแบบ ภ.พ.36 ในอัตราร้อยละ 7.0 (2) กรณีตาม 1.2 หากการจ่ายค่าห้องพักนั้นเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ โรงแรม เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544 (3) กรณีตาม 1.3 แยกการพิจารณาเป็นรายประเด็นตามข้อเท็จจริงดังนี้ (1) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทผู้รับจ้าง จัดหารถยนต์พร้อมคนขับโดยมีข้อกำหนดที่แน่นอนในสัญญาเกี่ยวกับสถานที่ เส้นทาง และเวลาการรับ-ส่ง โดยมิได้ส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้แก่บริษัทฯ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ดังนั้น ค่าจ้างที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่บริษัทผู้รับจ้าง จึงถือเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และหากมิใช่เป็นการให้บริการขนส่งแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นเงื่อนไขของการให้บริการขนส่งสาธารณะ บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544 (2) หากเป็นกรณีบริษัทผู้จัดหารถยนต์พร้อมคนขับได้ส่งมอบการ ครอบครองรถยนต์ให้แก่บริษัทฯ ไว้ประจำ ณ สถานประกอบการ และได้มีข้อกำหนดที่แน่นอนแห่งสัญญา ให้บริษัทฯ เป็นผู้กำหนดเส้นทางและมีสิทธิเรียกใช้รถยนต์นอกเวลาทำงาน กรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินค่าเช่าอันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 (3) หากการให้บริการรับ-ส่งพนักงานฯ หรือให้บริการนำแขกของบริษัทฯ ออกไปตีกอล์ฟตามจังหวัดใกล้เคียง และได้มีการให้บริการนอกเหนือไปจากการรับขน เช่น การนำแขกเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ โดยบริษัทฯ ผู้รับจ้างจะอำนวยความสะดวกเพื่อการเที่ยวชมทุกประการ เป็นต้น กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างทำของ บริษัทฯ ผู้จ่ายค่าบริการฯ อันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 (4) กรณีตาม 1.4 แยกการพิจารณาเป็นรายประเด็นตามข้อเท็จจริง ดังนี้ (1) กรณีบริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้บุคคลธรรมดาทำการกั้นห้อง หรือเทพื้นคอนกรีต หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า (ก) ผู้รับจ้างได้ใช้แรงงานของตนเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่มีการจัดตั้ง เป็นสำนักงานที่มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ไม่มีการจ้างพนักงาน ลูกจ้าง กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น เงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร (ข) ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น สี ปูน อิฐ และวัสดุต่าง ๆ ทั้งหมด เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับเหมาตามมาตรา 40(7) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตาม ข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 (ค) ผู้รับจ้างได้จัดตั้งเป็นสำนักงานและได้ลงทุนด้วยการจัดหา อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และมีค่าใช้จ่ายประจำของสำนักงาน ตลอดจนค่าจ้างพนักงานหรือ ลูกจ้าง กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการประกอบธุรกิจหรือพาณิชย์ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา ร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 (เทียบเคียงหนังสือที่ กค 0802/4080 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2533) 2. กรณีบริษัทฯ ซื้อหนังสือพิมพ์รายวันจากบุคคลธรรมดาทุกวันในราคาปกติ (ก) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลธรรมดาซื้อหนังสือพิมพ์มาเพื่อ จำหน่ายให้บริษัทฯ เงินได้จากการขายหนังสือพิมพ์ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด (ข) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ว่าจ้างให้บุคคลธรรมดารับ หนังสือพิมพ์มาส่งให้แก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้จ่ายค่าหนังสือพิมพ์ให้แก่ผู้ขายโดยตรง และจ่ายค่ารับ-ส่งหนังสือพิมพ์ให้แก่บุคคลธรรมดาต่างหาก ค่ารับส่งหนังสือพิมพ์เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร (3) กรณีรถยนต์รับส่งพนักงานไม่เพียงพอ บริษัทฯ จะว่าจ้างให้บุคคลธรรมดาจัดหารถยนต์พร้อมคนขับเพื่อรับส่งพนักงาน นั้น หากเป็นการให้บริการขนส่งจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการให้บริการอย่างอื่นและไม่มีการ ส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้แก่บริษัทฯ กรณีดังกล่าวถือเป็นการจ่ายค่าขนส่งที่มิใช่เป็นการ ขนส่งสาธารณะ อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร หาก บริษัทฯ จ่ายเงินในแต่ละครั้งตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายใน อัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544 (5) กรณีตาม 1.5 แยกการพิจารณาเป็นรายประเด็นตามข้อเท็จจริง ดังนี้ (1) วิศวกรเครื่องจักรซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทมาเลเซียมีหน้าที่ต้องนำเงินได้และ ผลประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย มารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากเงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นบริการส่วนบุคคลที่ได้ให้บริการในประเทศไทย เงินได้และ ผลประโยชน์ดังกล่าว จึงสามารถเก็บภาษีได้ในประเทศไทยตามข้อ 14 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ แต่วิศวกรดังกล่าว อาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศไทย หากเข้าเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (ก) วิศวกรดังกล่าวเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลาย ระยะเวลาซึ่งรวมกันไม่เกินกว่า 183 วันในปีภาษีนั้น และ (ข) การเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น เป็นการทำงานในนามบริษัทมาเลเซีย และ (ค) เงินเดือน ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ มิได้หักจากกำไรที่ต้องเสีย (2) เนื่องจากเงินได้จากการรับจ้างให้คำแนะนำ เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทในประเทศมาเลเซียส่งวิศวกรเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย มีระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน ถือว่าบริษัทในประเทศมาเลเซีย มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ บริษัทมาเลเซียจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว โดยคำนวณจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 68/33267 |