เลขที่หนังสือ | : กค 0706/8946 |
วันที่ | : 28 กันยายน 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคาร |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(5)(ก), มาตรา 43, มาตรา 56 |
ข้อหารือ | : กรณีการหักค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคาร ราย คณะบุคคลอาคาร โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้ 1. นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ได้ก่อสร้างอาคารเพื่อทำเป็นสำนักงาน โดยมอบหมายให้ นาย ก. เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และต่อมาได้ขอจดทะเบียนคณะบุคคลอาคาร โดยมี นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. เป็นหุ้นส่วนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับอาคารโดยมีวัตถุประสงค์ให้เช่าอาคาร ทั้งนี้ คณะบุคคลอาคารได้คำนวณเสียภาษีเงินได้โดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง คณะบุคคลอาคารจึงหารือว่า 1.1 ในการหักค่าเสื่อมราคาของอาคารจะหักเป็นค่าใช้จ่ายในนามคณะบุคคลอาคารได้หรือไม่ และจะใช้หลักฐานใดประกอบการหักค่าเสื่อมราคาดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาคณะบุคคลอาคารมิได้นำค่าเสื่อมราคามาหักเป็นค่าใช้จ่าย และไม่มีเอกสารค่าก่อสร้างเก็บไว้เป็นหลักฐาน 1.2 กรณีคณะบุคคลอาคาร ทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคารจากบุคคลทั้งสาม คือ นาย ก.นาย ข. และ นาย ค. หากบุคคลทั้งสามจะนำรายได้ค่าเช่าไปเสียภาษีเงินได้โดยหักค่าใช้จ่ายตามจริงจะต้องปฏิบัติอย่างไรในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ในส่วนของอาคารจะต้องทำสัญญาเช่าจากบุคคลทั้งสามหรือจาก นาย ก.แต่เพียงผู้เดียว และกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารจะใช้เอกสารใดเป็นตัวบ่งชี้ (2) ในการหักค่าเสื่อมราคาและภาษีโรงเรือน บุคคลทั้งสามจะสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายตามจริงได้หรือไม่ หรือ นาย ก. แต่เพียงผู้เดียวที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณี นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน ได้ก่อสร้างอาคารขึ้น โดยมอบหมายให้ นาย ก. เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และต่อมาได้ขอจดทะเบียนคณะบุคคลอาคาร โดยมี นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. เป็นหุ้นส่วนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับอาคารโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เช่าอาคาร เป็นกรณีคณะบุคคลอาคารประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สิน มีเงินได้จากการให้เช่าอาคาร เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่ง ประมวลรัษฎากร คณะบุคคลอาคารจะต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของคณะบุคคล โดยสามารถคำนวณหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 30 เว้นแต่กรณีมีหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรโดยนำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งคณะบุคคลอาคารสามารถนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคารมาหักได้ไม่เกินอัตราร้อยละของต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สินที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 หากหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 43 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ดังนั้น เมื่อคณะบุคคลอาคารไม่มีหลักฐานในการก่อสร้างอาคาร ก็ไม่สามารถทราบราคาต้นทุนของอาคารได้คณะบุคคลอาคารปิยะมิตรจึงไม่สามารถนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคารมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้แต่อย่างใด 2. กรณีคณะบุคคลอาคาร ซึ่งมี นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. เป็นหุ้นส่วนร่วมกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการให้เช่าอาคาร โดยอาคารดังกล่าวได้ปลูกสร้างลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของ นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของเดียวกัน คือ นาย ก. นาย ข. และ นาย ค. ดังนั้น กรณีคณะบุคคลอาคารจะทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคารจากบุคคลทั้งสาม โดยให้บุคคลทั้งสามดังกล่าวนำรายได้ค่าเช่ามาคำนวณเสียภาษีเงินได้และหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร จึงเป็นกรณีการทำสัญญาเช่าและนำเงินได้ที่ได้รับจากการให้เช่าอาคารมาคำนวณเสียภาษีเงินได้จากหน่วยภาษีเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการให้เช่าอาคารดังกล่าว คณะบุคคลอาคารจะต้องนำมายื่นรายการเพื่อเสียภาษีในนามของคณะบุคคล เสมือนเป็นบุคคลคนเดียวไม่มีการแบ่งแยก โดยผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลดังกล่าวแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการให้เช่าอาคารดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีกตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 67/33150 |