เลขที่หนังสือ | : กค 0706/7560 |
วันที่ | : 11 สิงหาคม 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบริษัทแม่ในต่างประเทศเสนอหุ้นให้พนักงานในประเทศโดยไม่มีค่าตอบแทน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(1), มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, มาตรา 41 วรรคสอง |
ข้อหารือ | : บริษัท บ. เป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายไทย และประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยมีบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในประเทศออสเตรเลีย (บริษัทแม่) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทฯ 75% ทั้งสองบริษัทประกอบกิจการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก เช่น เหล็กรีดเย็น เหล็กเคลือบโลหะ เหล็กเคลือบสีโดยบริษัทแม่และบริษัทฯ ต่างฝ่ายต่างผลิตสินค้า และไม่มีสัญญาว่าจ้างให้ผลิตสินค้าให้แก่กัน ต่อมาบริษัทแม่มีความประสงค์ที่จะเสนอหุ้นของบริษัทแม่ให้กับพนักงานของกลุ่มบริษัทในเครือทั่วโลกรวมถึงพนักงานในประเทศไทย โดยไม่มีค่าตอบแทนแต่ประการใด วัตถุประสงค์การให้หุ้นดังกล่าวเพื่อจูงใจให้พนักงานทุ่มเททำงานให้กับบริษัทต่อไป หุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้พนักงานของบริษัทฯ มีรายละเอียดและเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 1. พนักงานจะได้รับสิทธิในหุ้นของบริษัทแม่จำนวน 200 หุ้น โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับบริษัทแม่ 2. บริษัทฯ เป็นนายจ้างโดยตรงของพนักงานในประเทศไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบในต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ของหุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้กับพนักงานของบริษัทฯ แต่อย่างใด 3. บริษัทแม่ ให้สิทธิในหุ้นดังกล่าวแก่พนักงานของบริษัทฯ โดยกำหนดเงื่อนไขภายใต้หลักเกณฑ์ของตลาดหุ้นในประเทศออสเตรเลียไว้ว่า ในระยะเวลา 3 ปีนับจากวันที่เสนอหุ้นให้กับพนักงานนั้น พนักงานไม่มีสิทธิที่จะโอนขายหุ้นที่ได้รับหากไม่ได้รับความยินยอมและอนุมัติจากบริษัทแม่ แต่ยังคงมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลรวมถึงมีสิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้นดังกล่าว 4. ภายในระยะเวลา 3 ปีดังกล่าว หากพนักงานลาออก หรือหมดสถานภาพในการเป็นพนักงานของบริษัทฯ หุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้นั้น จะถูกยกเลิกและกรรมสิทธิ์ของหุ้นเหล่านั้นจะถูกโอนให้กับบริษัทแม่อย่างไม่มีเงื่อนไข5. กรณีพนักงานลาออกหรือหมดสภาพในการเป็นพนักงานภายในระยะเวลา 3 ปีบริษัทแม่ในฐานะผู้ออกหุ้นจะเป็นผู้มีสิทธิขาดในการจัดการโอนหรือขายหุ้นที่ออกนั้นให้แก่บุคคลอื่นต่อไป โดยพนักงานจะไม่มีสิทธิโต้แย้ง ผลประโยชน์ใด ๆ อันเนื่องจากการโอนหรือขายหุ้น ดังกล่าว จะถือว่าเป็นเงินได้ของบริษัทแม่ โดยพนักงานจะไม่มีสิทธิในผลประโยชน์ดังกล่าวหรือได้รับเงินชดเชยจากบริษัทแม่แต่อย่างใดบริษัทฯ หารือว่า 1. พนักงานของบริษัทฯ ได้รับหุ้นของบริษัทแม่ ถือเป็นเจ้าของหุ้นตามกฎหมายนับจากวันที่ตอบรับข้อเสนอแล้ว พนักงานจะไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นนั้นอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากพนักงานจะไม่มีสิทธิ์ในการขายหุ้นนั้นภายในระยะเวลา 3 ปี และหากพนักงานพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ก่อน 3 ปีนับจากวันที่รับโอนหุ้น พนักงานจะต้องคืนกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวให้แก่บริษัทแม่โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น เมื่อพนักงานตอบรับข้อเสนอและรับโอนหุ้นจากบริษัทแม่ หุ้นที่พนักงานได้รับนั้น ไม่ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามกฎหมาย ถูกต้องหรือไม่ 2. หากการรับโอนหุ้นนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามกฎหมาย บริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างในประเทศไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในต้นทุนของหุ้นที่บริษัทแม่เสนอให้กับพนักงานนั้น ผลประโยชน์จากหุ้น 200หุ้นของบริษัทแม่ที่พนักงานได้รับนั้น เป็นหุ้นของบริษัทแม่ ดังนั้น ผลประโยชน์จากการได้รับโอนหุ้นดังกล่าวจะถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดจากแหล่งเงินได้นอกประเทศ และตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานจะต้องรวมผลประโยชน์ดังกล่าวเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ต่อเมื่อนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้ และพนักงานได้อยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วันในปีภาษีดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ 3. เมื่อพนักงานได้รับเงินปันผลจากหุ้นดังกล่าว หรือได้ขายหุ้นภายหลังจากระยะเวลา 3 ปีที่กำหนดแล้ว มีกำไรจากการขายหุ้น เงินปันผลหรือกำไรดังกล่าวจะต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีถ้าพนักงานได้นำเงินปันผลหรือกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกับที่พนักงานได้รับเงินปันผลหรือกำไรนั้น รวมทั้งพนักงานได้อยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วันในปีภาษีเดียวกันนั้นถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. เนื่องจากการที่พนักงานได้รับหุ้นจากบริษัทแม่ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นผลมาจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทแม่ ดังนั้น กรณีจึงถือว่าหุ้นที่ได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้จากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2. กรณีที่พนักงานได้รับเงินปันผลหรือกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าว ถือเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินได้นั้น และผู้มีเงินได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย ตามข้อเท็จจริง หากพนักงานนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้ และพนักงานได้อยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วันในปีภาษีดังกล่าว พนักงานจะต้องนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 67/33089 |