เลขที่หนังสือ | : กค 0702/639 |
วันที่ | : 27 มกราคม 2559 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชา |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 42(9) มาตรา 65 และมาตรา 81(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชา สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า บริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชา ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 บริษัทฯ หารือ ดังนี้ 1.การบันทึกรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องใช้เกณฑ์ใด 2.การออกหุ้นเพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้นนำทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์มาตีราคาเพื่อชำระเป็นค่าหุ้น จะถือว่าผู้ถือหุ้นมีเงินได้พึงประเมินตามมูลค่าหุ้นที่ได้รับหรือไม่ และบริษัทฯ สามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวมาหักค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่ 3.การดำเนินกิจการโรงเรียนกวดวิชา ถือว่าเป็นการให้บริการการศึกษาของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | 1.การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ นั้น ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์ โดยบริษัทฯ ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังไม่ได้จ่ายไปในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร 2.กรณีที่บริษัทฯ ออกหุ้นเพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้นนำทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์มาตีราคาเป็นค่าหุ้นนั้น การนำทรัพย์สินมาชำระเป็นค่าหุ้นเข้าลักษณะเป็นการขาย โดยผู้ถือหุ้นได้รับหุ้นเป็นค่าตอบแทน ดังนั้น หากการตีราคาทรัพย์สินเป็นไปตามราคาตลาด กรณีดังกล่าวถือว่า ผู้ถือหุ้นได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เท่ากับมูลค่าหุ้นที่ได้รับ อย่างไรก็ดี หากทรัพย์สินที่นำมาชำระเป็นค่าหุ้นนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร มูลค่าหุ้นที่ได้รับย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่บริษัทฯ ได้รับทรัพย์สินจากการชำระเป็นค่าหุ้นนั้น หากบริษัทฯ ใช้ทรัพย์สินดังกล่าวในการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชา บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 3.กรณีที่บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชาตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชาเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ประกอบกับข้อ 1 (4) ของประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง การกำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 กิจการโรงเรียนกวดวิชาดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการการศึกษาของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ดังนั้น การประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาจึงเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 79/39983 |