เลขที่หนังสือ | : 0702/พ./9180 |
วันที่ | : 7 ตุลาคม 2558 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่อนุญาตให้ยกเลิกแบบคำขอแจ้งขอใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 01.1) |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ |
1.บริษัทA ประกอบกิจการผลิตยางแท่ง ยางแห้ง ยางคอมปาวด์ ขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2553 บริษัทA ใช้สิทธิแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.พ. 01.1) สำหรับการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและมีความประสงค์ที่จะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทการขายพืชผลทางการเกษตร ตามมาตรา 81 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 01) ทางอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 ระบุประเภทของกิจการที่ต้องเสียภาษี คือ ผลิตและส่งออก ยางพารา ยางแห้ง และยางแท่ง โดยได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ซึ่งการที่บริษัทA ได้ยื่นแบบ ภ.พ. 01.1 ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายพืชผลทางการเกษตรที่ไม่ใช่การส่งออกหรือบริการ เนื่องจากบริษัทA เข้าใจว่า สินค้าดังกล่าวที่ผลิตได้ ถ้าขายภายในประเทศจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และถ้าส่งออกไปต่างประเทศจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จากการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวทำให้บริษัทA ไม่สามารถทำการขายยางพาราในประเทศได้ ด้วยเหตุนี้ บริษัทA จึงขอยกเลิกแบบ ภ.พ. 01.1 ตามที่ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้
|
แนววินิจฉัย |
กรณีบริษัทA ประกอบกิจการผลิตยางแท่ง ยางแห้ง ยางคอมปาวด์ ขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ บริษัทA ใช้สิทธิแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทกิจการผลิตสินค้า ขายส่งวัตถุดิบการเกษตร และยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 01) ทางอินเทอร์เน็ต ระบุประเภทของกิจการที่ต้องเสียภาษี คือ ผลิตและส่งออก ยางพารา ยางแห้ง และยางแท่ง และบริษัทA ยื่นแบบ ภ.พ. 01.1 สำหรับประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทการขายพืชผลทาการเกษตร เมื่อบริษัทA จะขอยกเลิกแบบ ภ.พ. 01.1 ตามที่ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากในการยื่นแบบ ภ.พ. 01 และ ภ.พ. 01.1 ของบริษัทA เป็นการดำเนินการยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทางอินเทอร์เน็ต โดยผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัทA ซึ่งผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแทนบริษัทA มีความเข้าใจในข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนว่า การที่ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ในการส่งออกสินค้าดังกล่าวได้นั้น บริษัทA จะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าดังกล่าวในประเทศไทยก่อน ซึ่งเป็นการสำคัญผิดและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบริษัทA ตั้งแต่ต้น ประกอบกับการขายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทย บริษัทA ไม่ได้เรียกเก็บภาษีขายจากผู้ซื้อและถือเป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ. 30 และภาษีซื้อจากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทA ก็มิได้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ตลอดมา บริษัทA มีเจตนาที่จะกระทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยสำคัญผิด จึงให้ยกเลิกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการขายพืชผลทางการเกษตรดังกล่าว โดยให้บริษัทA แจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีที่บริษัทA ประกอบกิจการส่งออก ยางพารา ยางแห้ง และยางแท่ง ให้ถือว่า บริษัทA เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับเดิมคือ วันที่ 1 ตุลาคม 2553 |
เลขตู้ | : 78/39892 |