เลขที่หนังสือ | : กค 0702/8746 |
วันที่ | :7 ตุลาคม 2556 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกรณีการเครดิตภาษีเงินได้ต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 มาตรา 65 ตรี (6) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300)ฯ |
ข้อหารือ | บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเครดิตภาษีเงินได้ต่างประเทศ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทฯ มีเงินได้ประเภทค่าสิทธิที่ได้รับจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 โดยบริษัทฯ ได้ชำระภาษีเงินได้ที่คำนวณจากเงินได้ดังกล่าวในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 และใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับภาษีเงินได้ที่เสียไปในต่างประเทศ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในระมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 ประกอบกับข้อ 1 และข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งการใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัทฯ มีความเข้าใจ ดังนี้ 1. กรณีบริษัทฯ มีเงินได้ประเภทค่าสิทธิซึ่งเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 และบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (แบบ ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ต่อมาบริษัทฯ ได้ชำระภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ค่าสิทธิดังกล่าวในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงภาษีให้ถูกต้อง โดยนำภาษีเงินได้ที่บริษัทฯ ได้เสียไปในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 มายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียในประเทศไทยตามแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่รายได้ค่าสิทธิเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร 2. กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 ดังนั้น บริษัทฯ ต้องนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่รายได้ค่าสิทธิเกิดขึ้น มิใช่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทฯ ได้เสียภาษีไว้จริงในต่างประเทศ ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย มีรายได้ประเภทค่าสิทธิจากบริษัทในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 โดยบริษัทฯ ได้รับรู้รายได้ดังกล่าวตามเกณฑ์สิทธิ และได้นำเงินได้นั้นไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 แล้ว แต่บริษัทฯ ได้ชำระภาษีเงินได้ที่คำนวณจากเงินได้ดังกล่าวในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 กรณีดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงภาษีให้ถูกต้อง โดยนำจำนวนภาษีเงินได้ที่บริษัทฯ ได้เสียไปในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 มายกเว้นภาษีเงินได้ที่ต้องเสียในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทฯ มีรายได้ค่าสิทธิ ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 2. กรณีตาม 2. เมื่อบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 แล้ว ปรากฏว่า มีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 ซึ่งรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 แม้บริษัทฯ จะชำระภาษีให้บริษัทในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 76/38758 |