• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/7173 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเงินวางประกันการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าแม่พิมพ์ไปเครดิตภาษี

เลขที่หนังสือ กค 0702/7173 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเงินวางประกันการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าแม่พิมพ์ไปเครดิตภาษี

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/7173 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเงินวางประกันการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าแม่พิมพ์ไปเครดิตภาษี

เลขที่หนังสือ กค 0702/7173 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเงินวางประกันการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าแม่พิมพ์ไปเครดิตภาษี

เลขที่หนังสือ : กค 0702/7173
วันที่ :27 ตุลาคม 2551
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเงินวางประกันการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าแม่พิมพ์ไปเครดิตภาษี
ข้อกฎหมาย : มาตรา 81(2)(ค) มาตรา 77/1(18) และมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัท ท. ประกอบกิจการผลิต จำหน่าย ซ่อมแซม บำรุงรักษา รวมถึงให้บริการแกะ ลายแม่พิมพ์ ชิ้นส่วนของแม่พิมพ์ เครื่องมือ และอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม เครื่องใช้ในครัวเรือน บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 บริษัทฯ ได้นำเข้าแม่พิมพ์ที่ใช้ขึ้นรูปพลาสติกจากประเทศมาเลเซีย ผ่านด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ โดยสำแดงในขณะนำเข้าว่า นำเข้าแม่พิมพ์เป็นการชั่วคราวเพื่อทำการซ่อมแซมและจะส่งกลับไปยังประเทศมาเลเซียภายใน 6 เดือน ภายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2551 บริษัทฯ ได้ทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน ภาค 4 ประเภทที่ 3 (ช) แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ต่อกรมศุลกากรโดยวางเงินประกัน การปฏิบัติตามสัญญาจำนวน 1,623,000 บาท เป็นการวางประกันการชำระค่าอากรขาเข้าจำนวน 657,000 บาท และวางประกันภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 966,000 บาท ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ กรมศุลกากร ได้ออกใบเสร็จรับเงินรับเงินเพื่อแสดงการรับเงินวางประกันดังกล่าว เมื่อบริษัทฯ ส่งออกแม่พิมพ์กลับไปยังประเทศมาเลเซียผ่านด่านศุลกากรปาดังเบซาร์แล้ว บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินวางประกันเฉพาะค่าอากรขาเข้าจำนวน 657,000 บาท แต่ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ได้คืนเงินวางประกันจำนวน 1,623,000 บาท ซึ่งเป็นการคืนเงินวางประกันการชำระค่าอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยบริษัทฯ ได้นำเงินวางประกันการชำระ ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 966,000 บาท ที่ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรไปเครดิตภาษีใน เดือนภาษีพฤศจิกายน 2550 ไว้แล้ว


          2. ศุลกากรปาดังเบซาร์ กรมศุลกากร แจ้งเหตุผลในการคืนเงินวางประกัน แก่บริษัทฯ ว่า หลักเกณฑ์ในการวางประกัน กรณีสิ่งของที่นำเข้ามาเพื่อทำการซ่อมแซมและส่งกลับออกไปภายใน 6 เดือน จะได้รับ ยกเว้นอากรศุลกากรตามภาค 4 ประเภทที่ 3(ช) แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 โดย บริษัทฯ ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด กล่าวคือในขณะนำเข้าสิ่งของเพื่อทำการ ซ่อมแซมผู้นำเข้าต้องวางเงินหรือหลักประกันอย่างอื่นต่อกรมศุลกากรเพื่อเป็นการค้ำประกันว่า ผู้นำเข้าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พระราชกำหนดบัญญัติไว้และเมื่อบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าอากร กรมศุลกากร จึงได้คืนค่าอากรให้แก่บริษัทฯ ตามจำนวนเงินที่วางประกันไว้ทั้งหมดจำนวน 1,623,000 บาท เนื่องจาก บริษัทฯ ได้รับยกเว้นอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม


          3. บริษัทฯ ขอทราบว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร และหากบริษัทฯ ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติม บริษัทฯ ของดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เนื่องจากบริษัทฯ มิได้มีเจตนาจะกระทำการใด ๆ อันขัดต่อกฎหมาย หรือระเบียบของกรมสรรพากรแต่อย่างใด

แนววินิจฉัย           1. บริษัทฯ นำเข้าแม่พิมพ์ที่ใช้ขึ้นรูปพลาสติกจากประเทศมาเลเซีย ผ่านด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ โดยสำแดงในขณะนำเข้าว่า นำเข้าแม่พิมพ์เป็นการชั่วคราวเพื่อทำการซ่อมแซม และจะส่งกลับไปยังประเทศมาเลเซียภายใน 6 เดือน การนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาค 4 ประเภท 3 (ช) เป็นของนำเข้าเพื่อซ่อมและส่งออกกลับคืน ได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งบริษัทฯ ได้รับยกเว้นอากรและได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ ทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 และได้นำเงินวางประกันการปฏิบัติตามสัญญาจำนวน 1,623,000 บาท เป็นวางประกันการชำระ ค่าอากรขาเข้าจำนวน 657,000 บาท และวางประกันภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 966,000 บาท การวางเงินประกันภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวถือได้ว่า บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ตามมาตรา 83/8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ถือว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ได้วางประกันไว้เป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1(18) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ได้นำเงิน วางประกันการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไปเครดิตภาษีในเดือนภาษีพฤศจิกายน 2550 จึงเป็นการยื่นแบบแสดงรายการไว้ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกิน บริษัทฯ ต้องเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 71/36199

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 480
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores