เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./2229 |
วันที่ | : 12 พฤษภาคม 2551 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนกิจการทั้งหมด |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82/3 มาตรา 82/9 มาตรา 82/10 มาตรา 85/13 มาตรา 85/15 มาตรา 085/19 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัท ก. มีปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการโอนกิจการทั้งหมด โดยมี ข้อเท็จจริงดังนี้ 1. ท. ประสงค์จะรับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัท บ. และบริษัท T โดยเมื่อโอนกิจการทั้งหมดแล้ว บ. และ T จะจดทะเบียนเลิกบริษัทภายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกับที่โอนกิจการ 2. การออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ 2.1 บ. และ T แจ้งการโอนกิจการทั้งหมดและการเลิกประกอบกิจการวันที่ 15 ธ.ค. 50 2.2 บ. และ T จะโอนกิจการทั้งหมดให้ ท. วันที่ 1 ม.ค. 51 2.3 ช่วงเวลา 15 วัน (16 ธ.ค. 50 - 31 ธ.ค. 50) บ. และT จะยังขายสินค้าและให้บริการตามปกติ 3. จากข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ มีความเข้าใจ ดังนี้ 3.1 การออกใบกำกับภาษีระหว่างวันแจ้งการโอนกิจการและเลิกประกอบกิจการภาษีมูลค่าเพิ่ม ถึงวันโอนกิจการทั้งหมดช่วงเวลา 15 วันนับตั้งแต่วันที่แจ้งการโอนกิจการและการเลิกประกอบกิจการถึงวันที่โอนกิจการทั้งหมด (16 - 31 ธ.ค. 50) บ. และ T ยังมีสิทธิออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าและให้บริการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.66/2539 เรื่อง การแจ้งเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ที่กำหนดว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการตั้งแต่วันถัดจากวันยื่นแบบ ภ.พ.09 เพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ เพราะคำสั่งฯ ป.66/2539ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2539 เป็นแนวปฏิบัติ สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เลิกประกอบกิจการตามปกติเท่านั้น (กรณีปกติต้องแจ้งการเลิกประกอบกิจการ ภายใน 15 วันนับแต่วันเลิกประกอบกิจการ) ซึ่งแตกต่างจากกรณีการโอนกิจการทั้งหมดที่ผู้โอนกิจการยังมีสิทธิขายสินค้าหรือให้บริการได้จนถึงวันที่โอนกิจการ เพียงแต่ประมวลรัษฎากร มาตรา 85/13 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 131) ข้อ 1 (7) กำหนดให้ผู้โอนกิจการมีหน้าที่ต้องแจ้งการโอนกิจการ และการเลิกประกอบกิจการพร้อมกันก่อนวันโอนกิจการเพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.2 การออกใบกำกับภาษีหลังวันโอนกิจการทั้งหมด กรณี บ. และ T ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วก่อนวันโอนกิจการทั้งหมดแต่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบกำกับภาษีเกิดขึ้นภายหลังวันโอนกิจการทั้งหมด ท. ซึ่งเป็นผู้รับโอนกิจการมีสิทธิและหน้าที่ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการ ดังกล่าวและนำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของ ท. ได้ เพราะการโอนกิจการทั้งหมดเป็น การรับโอนสิทธิและหน้าที่ทั้งหมดของผู้โอนกิจการตามข้อตกลงในสัญญาโอนกิจการ 3.3 การใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษี กรณี บ. และ T ได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการไปแล้วก่อนวันโอนกิจการทั้งหมดแต่ได้รับใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวภายหลังโอนกิจการทั้งหมด ท. มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ได้รับมาขอคืนหรือเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยหากใบกำกับภาษียังระบุชื่อ บ. หรือ T ท. ต้องขอให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและ จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ระบุชื่อ ท. 3.4 การออกใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้ กรณี บ. และ T ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว ก่อนวันโอนกิจการทั้งหมดและได้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต่อมาภายหลังวันโอนกิจการทั้งหมดมีเหตุต้องออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้สำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าว ท. มีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยอ้างอิงใบกำกับภาษีฉบับเดิม 3.5 การใช้ภาษีซื้อตามใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้ กรณี บ. และ T ซื้อสินค้าหรือรับบริการไปแล้วก่อนวันโอนกิจการทั้งหมด และต่อมาภายหลังวันโอนกิจการทั้งหมด บ. และ T ได้รับใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการ ท. มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบเพิ่มหนี้หรือ ใบลดหนี้มารวมเป็นภาษีซื้อของ ท. ได้ |
แนววินิจฉัย | 1. การโอนกิจการทั้งหมดตามมาตรา 85/13 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประสงค์จะโอนกิจการ แจ้งการโอนและการเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร ก่อนวันโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วัน ทั้งนี้ ไม่ต้องปฏิบัติตามแนวทางคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.66/2539ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2539 กรณีการแจ้งเลิกประกอบกิจการสำหรับการโอนกิจการทั้งหมดแต่อย่างใด เนื่องจากคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เลิกประกอบกิจการตามจริง โดยสิทธิและหน้าที่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะหมดไปในวันที่อธิบดีกรมสรรพากรสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/19 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแตกต่างจากกรณีการโอนกิจการทั้งหมด ผู้รับโอน กิจการย่อมได้ไปทั้งสิทธิและหน้าที่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้โอนกิจการทั้งหมด 2. กรณี บ. และ T ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วก่อนวันโอนกิจการ หากความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวได้เกิดขึ้นระหว่างวันแจ้งการโอนและการเลิกประกอบกิจการ บ. และ T มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นตาม มาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณี บ. และ T ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วก่อนวันโอนกิจการ แต่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และในการออกใบกำกับภาษียังไม่เกิดขึ้น หากความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าว ได้เกิดขึ้นนับแต่วันถัดจากวันโอนกิจการ ให้ ท. มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการนั้น และให้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตาม มาตรา 82/3 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร 4. กรณี บ. และ T ได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการไปแล้วก่อนวันโอนกิจการ แต่ได้รับใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันโอนกิจการ ให้ ท. มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดย ท. จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม และจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง โดยระบุ ชื่อ ท. เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ 5. กรณี บ. และ T ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วก่อนวันโอนกิจการและได้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต่อมาถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ ท. มีหน้าที่ออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ 6. กรณี บ. และ T ได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการไปแล้วก่อนวันโอนกิจการ แต่ได้รับใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันโอนกิจการ ให้ ท. มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้ไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของ ท. ได้ ตามมาตรา 82/9 และมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ที่ ท. ได้รับจะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุชื่อ ท. เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ |
เลขตู้ | : 71/35837 |