ท่านเชื่อหรือไม่ว่า นับตั้งแต่มนุษย์ได้รวมตัวกันอยู่เป็นชุมชน การจัดเก็บหรือการเสียภาษีอากรก็เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน วิวัฒนาการจัดเก็บภาษีก็มักจะสอดคล้องกับรูปแบบการปกครองในแต่ละชุมชนในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน วิวัฒนาการของการจัดเก็บภาษีอากรก็อิงกับรูปแบบการปกครองตั้งแต่สมัยสุโขทัย (ประวัติการจัดเก็บภาษีอากร, กรมสรรพากร)
ในยุคที่ไม่มีเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ในสมัยโบราณมีการส่งมอบเครื่องบรรณาการจากเมืองขึ้นการกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินจากการชนะสงคราม การเกณฑ์แรงงานในอาณาจักรมาขุดคลอง สร้างถาวรวัตถุ สร้างถนนหนทางเพื่อทำนุบำรุงประเทศ เหล่านี้อาจจัดได้ว่าเป็นรูปแบบการจัดเก็บภาษีอากรที่ไม่เป็นตัวเงินประเภทหนึ่ง ซึ่งแต่ละประเภท เป็นรูปแบบเป็นวิวัฒนาการส่งผลต่อการก่อสร้างอาณาจักรในแต่ละยุคแต่ละสมัยของแต่ละชุมชน
ถัดมา ในยุคที่มีการพัฒนานำระบบเงินตรามาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนผู้ที่จำต้องถูกเกณฑ์แรงงานอาจเป็นผู้มีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพด้านอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตรา ก็อาจจะกำหนดให้สามารถนำเงินตราที่ทำหาได้ส่งให้กับรัฐแทนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถูกเกณฑ์แรงงานทำงานตามที่รัฐต้องการ ลักษณะนี้ก็จัดเป็นรูปแบบการเสียภาษีรูปแบบหนึ่ง โดยการใช้ระบบเงินตราเข้ามาสื่อกลาง ถือเป็นวิวัฒนาการการจัดเก็บภาษีอีกขั้นหนึ่ง
การคำนวณเพื่อกำหนดจำนวนภาษี ในยุคที่ไม่มีเงินตรา รูปแบบการจัดเก็บภาษีอากรในอดีต มักจะประเมินความต้องการของรัฐ หรือการจัดเก็บรายได้โดยคำนวณจากสัดส่วนของสินค้า ของกิจกรรมที่ต้องการ ซึ่งก็นับเป็นพัฒนาการหนึ่งซึ่งก้าวไปสู่ระบบภาษีการค้าโดยวิธีการจัดเก็บจากการขายสินค้า จากการบริการในกิจกรรมที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับในแต่ละท้องถิ่น วัตถุดิบ หรือ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการพัฒนาในแต่ละชุมชนนั้น ๆ
จากแนวคิดระบบภาษีการค้า ซึ่งจัดเก็บจากรายได้เป็นหลัก เริ่มการจัดเก็บเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น มาจัดเก็บในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ในสมัยพระนครศรีอยุธยาเริ่มมีการจัดเก็บในรูปของค่าธรรมเนียมจากการออกโฉนด เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นบุกรุกสถานที่ทำกิน ที่เรียกว่า ฤชา พัฒนาการด้านการจัดเก็บภาษีอากรถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ได้มีการยกเลิกรูปแบบเดิม ๆ กำหนดรูปแบบการจัดเก็บตามสถานการณ์ต่าง ๆ ตามแต่ละยุคสมัย มาถึงยุคปัจจุบัน เราอาจสรุปการจัดเก็บภาษีแบ่งเป็นแหล่งที่มาใหญ่ ๆ ได้ 3 แหล่งที่มา
สำหรับการจัดทำบัญชี ในปัจจุบันมีการนำระบบบัญชีมาใช้ในการบันทึกเพื่อสรุปผลการดำเนินธุรกิจ มีการยอมรับมาตรฐานระดับสากลและได้นำผลจากการจัดทำบัญชีมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดเก็บภาษี จึงเป็นที่มาของใช้ฐานกำไรสุทธิเพื่อคำนวณในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังที่เข้าใจกัน
จุดเริ่มต้นของการบันทึกบัญชีในยุคแรก การทำบัญชีในยุคนั้นทำเพียงเพื่อบันทึกจำนวนทรัพย์สิน สิ่งของ สินค้าที่มีอยู่และที่นับจำนวนได้ นั่นคือวัตถุประสงค์ในยุคเริ่มต้น เป็นเพียงเพื่อการทราบจำนวน บันทึกไว้เพื่อทดแทนความจำ คงอาจเป็นเพราะความสลับซับซ้อนของธุรกิจไม่มากนัก และการลงทุน การจัดการอยู่ในรูปแบบของบุคคลธรรมดา ลักษณะการดำเนินธุรกิจมีพัฒนามาจากการแลกเปลี่ยนสินค้า ต้นทุนที่เกิดขึ้นมาจากการใช้แรงงานซึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มเครือญาติ บุคคลในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญในการบันทึกรายการในส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเหล่านั้น
ในยุคต่อ ๆ มา ความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าเพิ่มมากขึ้น การบันทึกข้อมูลทางบัญชีจึงถูกให้ความสำคัญและมีความจำเป็นมากขึ้น มีการพัฒนานำเอาระบบบัญชีคู่มาใช้ ถัดมาก็มีการกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีเพื่อใช้สรุปผลการดำเนินการงานในศตวรรษที่ 19 พัฒนาการทางบัญชีได้เปลี่ยนแปลงมากสืบเนื่องจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความสลับซับซ้อนทางธุรกิจมีมากขึ้น การบัญชีถูกพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น จากเดิมผู้ใช้ข้อมูลเพียงเจ้าของกิจการหรือผู้บริหาร ข้อมูลถูกนำมาใช้งานในด้านอื่นเพิ่ม ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
บริบทการเกิดขึ้นของบัญชีกับภาษีอากร วัตถุประสงค์ต่างกันแต่วิวัฒนาการทำให้เดินทางมาคู่ขนานกัน ด้วยเพราะมีความจำเป็นและมีความสำคัญของข้อมูลที่ต้องใช้มาจากพื้นฐานเดียวกัน เมื่อมาถึงยุคหนึ่งวิวัฒนาการการบัญชี สามารถบันทึกได้ครอบคลุมทุก ๆ อย่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักบัญชีมองเห็นความแตกต่างและความเหมือนกันของที่มาของข้อมูล จากการวิเคราะห์จากการประมวลผล แนวคิดจึงมองเห็นการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากนักบัญชีเป็นพื้นฐานเพื่อนำมาปรับปรุง เพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดเก็บภาษีอากร เราจึงมองเห็นภาพการบัญชีภาษีอากรเพียงความแตกต่างที่สามารถปรับปรุงข้อมูลให้ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นทางภาษีอากร จึงไม่แปลกที่หลาย ๆ ท่านที่เป็นนักบัญชีจะเข้าใจว่า เอาข้อมูลทางบัญชีมาปรับปรุงแล้วสามารถนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีอากรได้แล้ว
วิวัฒนาการความสามารถของการจัดการฐานข้อมูลเพื่อรองรับเหตุการณ์ได้อย่างละเอียด แยกย่อยได้มากขึ้นรูปแบบการจัดเก็บภาษีอากร มีความพยายามจะใช้ฐานข้อมูลในระดับ Big data มาใช้คำนวณเม็ดเงินภาษีอากร เพื่อให้สะท้อนตัวเลขที่ต้องมีการจัดการ
ที่มาของการกำหนดอัตราภาษีอากรที่ใช้จัดเก็บไม่ได้ประเมินจากผลประกอบการทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว อัตราภาษีอากรที่เหมาะสมถูกประเมินมาจากการจัดการของภาครัฐ ประเมินจากการเจริญเติบโตของผลผลิตมวลรวมของประเทศ ทุก ๆ จำนวนที่เกิดขึ้น ที่เติบโต จะต้องสร้างผลกระทบต่อสังคม ต่อชุมชน ต่อการจัดการ และทุก ๆ ผลกระทบมีต้นทุนในการจัดการเสมอ หากสังเกตในแต่ละชุมชน ภาษีอากรไม่ได้กำหนดไว้ในอัตราเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการของภาครัฐเพื่อความเจริญเติบโต ความสงบสุข เรียบร้อยของแต่ละชุมชน
การทำธุรกิจ เริ่มต้นมุ่งเพื่อการสร้างยอดขาย สร้างรายได้ หาวิธีการเพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ธุรกิจให้มากที่สุด การจัดเก็บภาษีอากร มุ่งจัดหารายได้มาพัฒนา บริหารจัดการ แก้ไขปัญหาในสังคม อีกส่วนหนึ่งเจตนาเพื่อลดความเลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยมีข้อยกเว้นทางภาษีอากร ผลการลดความเลื่อมล้ำ อาจจะสร้างภาระการจัดการที่เพิ่มขึ้น แท้จริงอาจเพิ่มต้นทุนของธุรกิจอีกทางหนึ่ง สำหรับการสนับสนุน ส่งเสริมทางด้านอื่นเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อกำหนดให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคมด้วยภาษีอากร เหล่านั้นสร้างความสลับซับซ้อนทางบัญชีกับทางภาษีอากรให้เกิดความแตกต่าง และนับวันความแตกต่างเหล่านี้จะมีมากขึ้นด้วยเหตุของที่มาและเป้าหมายของทั้ง 2 ส่วนไม่ได้เดินบนเส้นทางเดียวกันที่สมบูรณ์แบบ
นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ มองภาษีอากรอย่างไร อาจมองเป็นต้นทุนของธุรกิจ หรือมองเป็นส่วนแบ่งที่ภาครัฐจะได้รับเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน หรือเป็นหุ้นส่วนทางสังคมจากการทำมาหาได้ในแหล่งกำเนิด แหล่งที่มารายได้ของธุรกิจ มุมมองที่ต่างกันการจัดการก็ปรับเปลี่ยนตามที่เห็น มองเป็นต้นทุน เป้าหมายนั่นคือประหยัดต้นทุน หากมองเห็นเป็นหุ้นส่วนทางสังคม เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินก็อาจเห็นจำนวนที่เหมาะสมอาจไม่ได้มองจำนวนที่ต่ำเช่นเดียวกับต้นทุน
ภาครัฐมองภาษีอากรอย่างไร มองเห็นเป็นรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพื่อเป็นผลงานของผู้เป็นรัฐบาล หรือมองเห็นเป็นเงินส่วนสนับสนุน ส่วนแบ่งส่งมาจากภาคบุคคลที่มีส่วนร่วมเป็นสมาชิกในสังคมที่อยู่ร่วมกัน การนำไปใช้อย่างคุ้มค่าเพื่อตอบโจทย์หรือตอบสนอง มีเป้าหมายอาจมีความละเอียดอ่อนที่ต่างกันจากมุมมองที่เห็นเช่นกัน
นักบัญชีมองภาษีอากรอย่างไร มองเห็นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของรายการทางการค้าที่ต้องบันทึกให้ครบถ้วน หรือมองเห็นเป็นเม็ดเงิน เป็นฐานข้อมูลสำคัญ ทั้งนี้เพื่อความถูกต้อง เพื่อการนำเม็ดเงินไปใช้ และส่งเสริมการจัดการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การจัดการทางสังคม การให้ความสำคัญต่อจำนวน ตัวเลข สัดส่วนที่เห็นอาจบอกถึงความรู้สึกและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป
สมาชิกในสังคมประเทศ หรือ ประชาชนที่รอคอยผลจากใช้เม็ดเงินภาษีเพื่อการจัดการทางสังคมผู้ที่รับผิดชอบเขามองเห็นภาษีอากรกันอย่างไร ผู้คนส่วนหนึ่งอาจมองเห็นเงินภาษีอากรเป็นเม็ดเงินที่หล่นมาจากฟากฟ้า ก็อาจไม่เข้าใจและไม่รู้ถึงแหล่งที่มาและอาจไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองก็มีส่วนในความรับผิดชอบต่อเม็ดเงินเหล่านี้ หากมองเห็นว่าเม็ดเงินเหล่านี้เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมรอบตัวเอง ทุก ๆ การใช้จ่ายและรายได้ของตนเองก็มีส่วนหนึ่งเป็นเม็ดเงินภาษีที่ถูกส่งไปรวมกัน มีจำนวนที่มากพอเพื่อการจัดการทางสังคมที่เกิดขึ้น ทุก ๆ คนอาจหวงแหนเม็ดเงินเมื่อถูกใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ทัศนคติต่อเม็ดเงินภาษีอากรอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่สามารถมองเห็น
การบัญชีภาษีอากรจะถูกให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้สำคัญแค่ไหนหรือมองภาษีอากรอย่างไรในท้ายสุด การบัญชีภาษีอากร จะมีความสำคัญ หรือจะมองเห็น เป็นแค่เพียงความแตกกต่างบัญชีกับภาษีอากรขึ้นอยู่กับอะไรนั้นด้วยเหตุแห่งที่มา วัตถุประสงค์การเกิดขึ้นมีความต่างกันรวมทั้งเนื้อหา การจัดการ และผู้ที่ให้มุมมอง แน่นอนอาจสะท้อนในมุมที่ต่างกัน
ในความแตกต่างทางด้านบัญชีกับด้านภาษีอากร หากมองส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล ในปัจจุบันรูปแบบของกิจกรรมทางการค้าอยู่ในรูปของหน่วยธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ การคำนวณภาษีเงินได้จากผลการดำเนินงานของธุรกิจจึงเป็นกลุ่มใหญ่ ด้วยแหล่งที่มาของข้อมูลเกิดจากแหล่งเดียวกัน องค์ประกอบในการคำนวณที่ต่างกัน จึงเกิดความแตกต่างในผลลัพธ์สุดท้ายแน่นอน ด้วยข้อมูลทางบัญชีถูกกำหนดมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับสากล ทางภาษีอากรจึงใช้ข้อมูลทางบัญชีเป็นฐานปรับปรุงข้อมูลบางส่วนเพื่อประโยชน์การจัดเก็บภาษีอากร หากมองเห็นเฉพาะจุดที่ต้องการจะเห็น เราอาจจะบอกได้ว่าการบัญชีภาษีอากรก็เป็นแค่ความแตกต่างกับทางบัญชี แต่.. หากมองเห็นภาษีอากรในองค์รวม ทุก ๆ ประเภทภาษี ทุก ๆ เม็ดเงินที่ทุกส่งไปรวมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ในทุก ๆ จำนวน ทุก ๆ แหล่งที่มาจะถูกให้ความสำคัญและจะถูกนำมาบันทึกเพื่อวิเคราะห์ เพื่อเป็นข้อมูลเพื่อการจัดการ ข้อมูลเหล่านั้นจะมองเห็นเด่นชัดขึ้นและมองเห็นผลประโยชน์ของทุก ๆ หน่วยข้อมูล มองเห็นเป็น Big Data การบัญชีภาษีอากรอาจถูกหยิบยกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งการบัญชีภาษีอากรอาจจะไม่ใช่แค่ความแตกต่างจากบัญชีอีกต่อไป
แล้วท่านล่ะ... มองเห็น การบัญชีภาษีอากร เป็นเช่นไร?
ขอบคุณบทความจาก ::สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์
ประกาศบทความโดย ::www.prosofterp.com