ถึงจะของฟรี ก็ต้องมีภาษีนะ

ถึงจะของฟรี ก็ต้องมีภาษีนะ



"ไม่มีอะไรในโลกนี้ได้มาฟรี ”
 คำกล่าวอันเป็นสัจธรรมนี้ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และใช้ได้ทั่วไปไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่กับเรื่องของภาษีอากร เพื่อเตือนใจผู้ที่ได้ของมาฟรีๆ ทั้งหลายว่าอย่าดีใจสุดๆ เกินไปเพราะภาระสุดๆ ที่จะตกมา (ขึ้นอยู่กับมูลค่าของฟรี) ก็อาจทำให้มึนได้
   ทั้งนี้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดว่าเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ ที่คำนวณได้เป็นเงิน ถือเป็นเงินได้พึ่งประเมินที่ผู้ที่ได้รับต้องนำมารวมเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและถือเป็นรายได้ที่จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณี

   ตัวอย่าง หนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องได้แก่ หนังสือที่ กค 0706/865 ลงวันที่ 24 มกราคม 2548 ได้วางแนวเรื่องของการรับรางวัลจากการส่งเสริมการขายดังนี้

   ประเด็นปัญหา  บริษัทประกอบกิจการซื้อมาขายไป ได้จัดรายการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้แทนการจำหน่ายสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขายสินค้าของบริษัทในลักษณะต่างๆ
     1. กรณีผู้แทนจำหน่ายได้รับรางวัลจากบริษัทเนื่องจากการส่งเสริมการขาย และหากผู้แทนจำหน่ายขายสินค้าซึ่งเป็นรางวัลให้แก่ลูกค้า

     2. กรณีผู้ผลิตสินค้าสนับสนุนของรางวัลให้แก่บริษัทเพื่อนำไปแจกให้แก่ผู้แทนจำหน่ายโดยไม่คิดมูลค่า รางวัลที่ได้รับถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีหรือไม่

   แนววินิจฉัย
     1. รางวัลจากบริษัทถือเป็นรายได้ของผู้แทนจำหน่าย และเมื่อขายให้แก่ลูกค้าต้องนำกำไรจาการขายมาคำนวณเสียภาษี โดยผู้แทนจำหน่ายมีสิทธินำมูลค่าของของรางวัลมาถือเป็นต้นทุนของสินค้าที่จำหน่ายให้แก่ลูกค้า

     2. รางวัลที่บริษัทนำไปแจกให้แก่ผู้แทนจำหน่ายโดยไม่คิดมูลค่า ถือเป็นเงินได้ที่บริษัทได้รับ ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ และเมื่อนำไปแจกให้ผู้แทนจำหน่าย บริษัทมีสิทธินำมูลค่าของของรางวัลดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายได้
   จะเห็นได้ว่าประเด็นปัญหาและแนวคำตอบที่ได้ยกมานั้น ตัวแทนจำหน่ายและบริษัทได้รับมาฟรี โดยไม่ต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้มอบของรางวัล เมื่อได้รางวัลมาฟรีเช่นนี้ จึงถือว่าตัวแทนจำหน่ายและบริษัทมีรายได้ที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ประเด็นต่อมาก็คือ เมื่อตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับรางวัลนำเอารางวัลดังกล่าว(รับมาฟรีๆ นี่แหละ) ไปขายต่อให้ลูกค้า (ขายแล้วได้เงิน) เงินที่ได้รับจากการขายสินค้า จึงต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ก็สามารถนำมูลค่าของรางวัลมาเป็นต้นทุนหักออกจากราคาขายได้เช่นกัน

   ในขณะเดียวกัน กรณีบริษัทที่ได้รับของรางวัลมาฟรีมาจากบริษัทผู้ผลิตเพื่อนำไปแจกให้ตัวแทนจำหน่ายเพื่อเป็นการส่งเสริมการขายนั้น บริษัทที่ได้รับของรางวัลต้องถือเป็นรายได้ที่จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเมื่อบริษัทมีสิทธินำมูลค่าของรางวัลที่ถือเป็นรายได้นั้นมาเป็นรายจ่ายในขณะที่แจกได้ ซึ่งหลักเกณฑ์เช่นนี้ก็จะเป็นธรรมต่อผู้รับของรางวัลที่นำไปแจกจ่ายเพื่อส่งเสริมการขายได้
   อย่างไรก็ดี ถ้าหากในขณะที่แจกไม่ใช่รายการส่งเสริมการขายของกิจการ บริษัทฯ ที่ได้รับของมาฟรีก็ไม่อาจนำมูลค่าของที่ได้รับมาถือเป็นรายจ่ายได้เนื่องจากไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ
ตัวอย่าง บริษัท ค.จำกัด จัดรายการส่งเสริมการขายโดยกำหนดนโยบายว่า ถ้าลูกค้าคนใดสะสมยอดซื้อสินค้าจากบริษัท ค.ได้ ตามเป้าที่กำหนด บริษัท ค.จะมอบรางวัลโดยให้ไปเที่ยวต่างประเทศเป็นแพคเกจทัวร์ มูลค่า 80,000 บาท ปรากฏว่าลูกค้าของบริษัท ค.คือ บริษัท ส.จำกัด ได้รับรางวัลดังกล่าว ดังนั้น บริษัท ส. ต้องนำมูลค่าของรางวัลดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชี ที่ได้รับของรางวัล แต่บริษัท ส. ได้มอบแพคแกจทัวร์ดังกล่าวให้นาย ข. ซึ่งเป็นพนักงานไปเที่ยวต่อโดยเป็นการให้โดยความพึงพอใจส่วนตัวของผู้บริหาร  กรณีเช่นนี้บริษัท ค.ย่อมไม่สามารถนำมูลค่าของแพคเกจทัวร์ที่ได้รับมาคำนวณเป็นรายได้แล้วมาถือเป็นรายจ่ายในขณะที่มอบของรางวัลให้นาย ข.ได้ เนื่องจากเป็นการให้โดยเสน่หาจึงเป็นรายจ่ายต้องห้าม แต่หากเป็นการให้พนักงานไปพักผ่อนตามที่กำหนดไว้เป็นระเบียบสวัสดิการของบริษัทซึ่งกำหนดไว้เป็นการทั่วไป และนาย ข. อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธินำมูลค่าของแพคเกจทัวร์นั้นมาถือเป็นรายจ่ายในขณะที่มอบให้นาย ข.ได้

      ภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม
   การส่งเสริมการขายโดยการแจกของรางวัลให้แก่ผู้รับนั้น ถ้าของรางวัลที่แจกเป็นทรัพย์สินหรือสิ่งของ ย่อมถือได้ว่าผู้ประกอบการที่แจกของรางวัลได้ขายสินค้าแล้วซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(8)(9)และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีของรางวัลเป็น “ บริการ ” เช่น ให้ไปพักผ่อนต่างประเทศโดยมอบเป็นแพคเกจทัวร์ ย่อมถือเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน
   ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการที่จะจัดรายการส่งเสริมการขายโดยการมอบรางวัลให้ลูกค้าจะต้องทราบภาระเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้ด้วย และหากผู้ประกอบการที่แจกของรางวัลนั้นไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้านั้น ก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการนั้นรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มเอง แต่ถ้าเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าก็อย่าลืมออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าด้วย

     ภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย  
   การแจกของรางวัลดังกล่าวนั้น ถ้าผู้รับของรางวัลเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากผู้ขาย (ซึ่งเป็นผู้แจกของรางวัล) มาแล้วเอาไปขายต่อ เมื่อผู้ขายแจกของรางวัลให้ก็ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ  แต่ถ้าผู้รับของรางวัลเป็นผู้บริโภคหรือเป็นผู้ซื้อสินค้าจากผู้ขายโดยนำสินค้านั้นมาใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยมิให้มีวัตถุประสงค์จะนำไปขายต่อ ก็ไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
  
อบคุณบทความจาก :: สรรพากรสาส์น
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 1251
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores