ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาทีมงานได้มีโอกาสศึกษา ร่างมาตรฐานการบริหารคุณภาพระหว่างประเทศฉบับที่ 2 (Engagement Quality Reviews - ISQM2 ) การสอบทานคุณภาพงาน มีประเด็นน่าสนใจและอยากนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้
มาตรฐานฉบับนี้เป็นมาตรฐานฉบับใหม่ที่แยกออกมาจาก ISQM1 เพื่อต้องการให้เกิดความมั่นใจว่าการสอบทานคุณภาพงานมีความแข็งแกร่ง และสามารถสนับสนุนให้งานตรวจสอบและงานอื่น ๆ มีคุณภาพในระดับสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการตั้งเกณฑ์เลือกบุคลากรมาทำหน้าที่สอบทานคุณภาพงาน รวมถึงการปรับปรุงหน้าที่ของผู้สอบทานคุณภาพงาน และการจัดทำเอกสารหลักฐาน
มาตรฐานฉบับนี้มีข้อกำหนดหลายประการเกี่ยวกับวิธีการสอบทานคุณภาพงาน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้สอบทานคุณภาพงานในการพิจารณาตัดสินใจอย่างมืออาชีพ และการเน้นย้ำ ความสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในขณะที่ปฏิบัติงานสอบทาน มีการกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของผู้สอบทานในเรื่องความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพที่มีอยู่เดิมแล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรฐานฉบับนี้มีหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งและการกำหนดสิทธิอำนาจขอบเขตของผู้สอบทานคุณภาพงานมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการหรือไม่ จำเป็นต้องเป็นตำแหน่งEngagement Partner เท่านั้นหรือไม่ อีกทั้งร่างฉบับนี้ยังกำหนดข้อควรระวังในกรณีที่ผู้สอบทานคุณภาพงานนั้นเคยเป็น Engagement Partner มาก่อน
มาตรฐานฉบับนี้ได้สนับสนุนความรู้ความสามารถของผู้สอบทานคุณภาพงานไม่แตกต่างจากฉบับที่ 1เพียงแต่เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรู้ความสามารถเฉพาะที่ควรมีในการปฏิบัติงานสอบทานคุณภาพงานสำหรับงานบางประเภทที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงรวมไปถึงการกำหนดนโยบายและวิธีการของสำนักงานเพื่อให้มั่นใจว่าผู้สอบทานคุณภาพงานมีเวลาเพียงพอสำหรับการสอบทานนั้น
มาตรฐานฉบับนี้ได้กำหนดบทบาทผู้สอบทานคุณภาพงานให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นผ่านวิธีการที่เหมาะสมของแต่ละสำนักงาน เช่นการระบุชื่อตำแหน่งของผู้สอบทานที่เฉพาะเจาะจงลงไป รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมของสำนักงานให้เข้าใจและตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้สอบทานคุณภาพงาน และการให้ความสำคัญและนับถือผู้ที่มาทำหน้าที่สอบทานคุณภาพงานสิ่งนี้จะทำให้ผู้สอบทานคุณภาพงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลัง ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลระหว่างการปฏิบัติงาน รวมถึงการกำหนดให้สำนักงานมีนโยบายหรือวิธีปฏิบัติในกรณีมีปัญหาความเห็นที่แตกต่างกันโดยการเพิ่มเติมอำนาจของผู้สอบทานคุณภาพงานให้เป็นผู้ตัดสินใจในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือประเด็นในความเห็นที่แตกต่างกัน
การแต่งตั้งผู้สอบทานคุณภาพงานหลังจากที่เคยเป็น Engagement Partnerไม่ควรดำรงตำแหน่งหรือถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้สอบทานคุณภาพงานทันที ควรมีระยะเวลาการหยุดปฏิบัติงาน (Cooling-off) ตามสมควรเพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องการขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเชิงข้อมูลและการปฏิบัติงานของ Engagement Partner คนใหม่
มาตรฐานฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญของการส่งเสริมให้มีการพูดคุยกันปรึกษาหารือกันระหว่าง Engagement Partner และผู้สอบทานคุณภาพงาน เพื่อทำให้การสอบทานมีประสิทธิภาพและทันเวลา เช่นการกำหนดลักษณะ ระยะเวลา และขอบเขตของการปรึกษาหารือกันของผู้สอบทานคุณภาพงานหรือทีมผู้ปฏิบัติงานระหว่างการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการใช้บุคลากรภายนอกในการปฏิบัติงานเป็นผู้สอบทานคุณภาพงานสำนักงานขนาดเล็กและขนาดกลางอาจมีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรภายนอกมาเป็นผู้สอบทานคุณภาพงานซึ่งอาจมีข้อระวังเนื่องจากจำนวนของผู้สอบทานคุณภาพงานมีอย่างจำกัดหรืออาจไม่มีเลย
การปฏิบัติงานและการจัดทำกระดาษทำการของการสอบทานคุณภาพงาน
สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สอบทานคุณภาพงานสามารถหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีในช่วงเวลาที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติงาน
ข้อควรระวังในการจัดทำกระดาษทำการของการสอบทานคุณภาพงาน เกี่ยวกับประเด็นที่พบเจอจากการสอบทานและความเห็นที่มีต่อประเด็นเหล่านั้นผู้สอบทานคุณภาพงานต้องมีความรับผิดชอบต่อการจัดให้มีกระดาษทำการสำหรับการสอบทานคุณภาพงาน และสามารถที่จะเพิ่มข้อกำหนดต่าง ๆ ให้มีการจัดทำกระดาษทำการอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกระดาษทำการดังกล่าวควรมีความเพียงพอที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่มีประสบการณ์สามารถเข้าใจในลักษณะ ระยะเวลาและขอบเขตของวิธีการสอบทานคุณภาพงานนั้นได้
ขอบคุณบทความจาก :: สภาวิชาชีพบัญชี
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com